xs
xsm
sm
md
lg

เต่าติดดาวเทียมส่งสัญญาณแจ้งข้อมูลแล้ว-นักวิชาการมั่นใจโอกาสรอดสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต -เผยเต่าติดสัญญาณดาวเทียมปล่อยเกาะหูหยง ส่งสัญญาณกลับแล้ว พบ 2 ตัว ยังอยู่บริเวณหมู่เกาะสิมิน ขณะที่อีก 1 ตัวกำลังว่ายน้ำเข้าหาแผ่นดินใหญ่ บริเวณจังหวัดภูเก็ต นักวิชาการมั่นใจปล่อยเต่าขนาดอายุ1-2 ปี โอกาสรอดสูงกว่า 50 ปี ขณะที่ปล่อยเต่าอายุ 3-4 เดือน หรือเต่าเกิดเองตามธรรมชาติโอกาสรอดมีไม่เกิน 1 %

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับเต่าตะนุ อายุ 1 ปี จำนวน 3 ตัวซึ่งติดสัญญาณเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมเพื่อศึกษาการเดินทางและโอกาสการรอดชีวิตของเต่าที่ทางเจ้าหน้าที่นำมาอนุบาลก่อนปล่อยกลับทะเล

เต่าทั้ง 3 ตัวเป็นเต่าชุดที่ 2 ที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากร่วมกับอาสาสมัครจากต่างประเทศ ร่วมกันศึกษา และทำการปล่อยลูกเต่าไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมาที่บริเวณเกาะหูหยง หรือเกาะหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่เกาะสิลัน โดยเกาะหูหยงนั้นเป็นเกาะที่เต่าทะเลขึ้นวางไข่มากที่สุด และเต่าทั้ง 3 ตัวที่นำไปปล่อยในครั้งนี้เป็นเต่าที่มีแหล่งกำเนิดที่เกาะหูหยง

ปรากฏว่า หลังจากปล่อยไปเพียงไม่กี่วันเครื่องดาวเทียมที่ติดไว้บนกระดองเต่าทั้ง 3 ตัวได้ส่งสัญญาณกลับมาแล้ว พบว่า มีเต่าจำนวน 2 ตัวที่ยังวายน้ำอยู่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน โดยอยู่ที่เกาะ 4 จำนวน 1 ตัว เกาะ 8 จำนวน 1 ตัว และมีอีก 1 ตัวที่กำลังว่ายน้ำเข้าหาแผ่นดินใหญ่ที่บริเวณจังหวัดพังงา ซึ่งจะเห็นว่าเต่าที่ปล่อยในอายุขนาด 1-2 ปี จะไม่ว่ายน้ำออกสู่ทะเลลึก แต่จะพยายามว่ายน้ำเข้าหาแหล่งอาหารที่อยู่บริเวณชายฝั่ง จากการตรวจสอบข้อมูลของเต่าชุดแรกพบว่าขณะนี้เต่ายังหากินอยู่ในแหล่งที่มีหญ้าทะเลสมบูรณ์ของอ่าวพังงา โดยไม่ว่ายน้ำออกไปจุดอื่นอีก

นายก้องเกียรติ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จากการศึกษข้อมูลจากดาวเทียมที่ส่งกลับมาเชื่อว่าเต่าที่มีขนาดอายุประมาณ 1-2 ปีจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในทะเลได้ และมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าเต่าขนาดเล็ก โดยเชื่อว่าเต่าขนาดนี้จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่า 50% เนื่องจากเต่าขนาด1-2 ปีที่เจ้าหน้าที่นำมาเพาะเลี้ยง เมื่อเปรียบเตียมกับเต่าที่พบในธรรมชาติพบว่าจะมีขนาดเท่ากับเต่าที่มีอายุ 3-5 ปี ซึ่งเต่าอายุขนาดนั้นจะเป็นเต่าที่เริ่มเข้ามาหากินตามแนวชายฝั่งบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเล ส่วนการปล่อยเต่าทะเลที่มีอายุ3-4 เดือน หรือเต่าที่เกิดเองตามธรรมชาติเชื่อว่ามีโอกาสรอดเพียงแค่ 1 % เท่านั้น

นายก้องเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาชีวิตของเต่าที่ปล่อยกลับสู่ทะเลโดยใช้ดาวเทียมติดไปกับเต่านั้นจะทำให้ทราบว่าเต่าเดินทางไปจุดใดบ้างหลังจากปล่อยกลับสู่ทะเล และทำให้ทราบว่าเต่าเหล่านี้สามารถเข้าไปหาแหล่งหากินได้อยู่ไม่ เมื่อทราบข้อมูลต่างๆแล้วเจ้าหน้าที่จะนำมาประมวลเพื่ออนุรักษ์เต่าทะเลให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และลดความสูญเสียในการปล่อยเต่าที่มีขนาดไม่เหมาะสม





กำลังโหลดความคิดเห็น