xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สถาบันวิจัยฯ-อาสาสมัครย้ายปลูกกัลปังหาแล้ว - ระบุในธรรมชาติพบน้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยฯภูเก็ต อาสาสมัครดำน้ำร่วมกันขนย้าย “กัลปังหา เมลิเทีย” จากกระชังเลี้ยงปลาหน้าอ่าวฉลองไปปลูกเพื่อศึกษา นักวิชาการระบุแนวโน้มกัลปังหามีจำนวนลดลงต้องช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู พร้อมเผยการย้ายปลูกเพิ่มมีการดำเนินการ ขณะที่เจ้าของกระชังระบุการดูแลกัลปังหาช่วยให้ลูกปลา กุ้งเข้ามาอาศัยส่งผลลดค่าใช้จ่ายซื้อลูกพันธ์ส่วนหนึ่ง

วันนี้ (18 ม.ค.) ที่บริเวณกระชังเลี้ยงปลาของนายจรูญ ก้อนทรัพย์อยู่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าชายหาดป่าหล่าย อ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต อาสาสมัครนักดำน้ำช่วยกันตัดต้นกัลปังหา สายพันธ์ เมลิเทีย ขนาดต่างๆ ซึ่งนายจรูญ เลี้ยงไว้รอบๆกระชังเลี้ยงปลา เพื่อย้ายไปปลูกที่บริเวณอ่าวชายหาดเขาขาด และสะพานสบันวิจัยฯ ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตามโครงการ “คืนกัลปังหาสู่ทะเล” ซึ่งสมคมกรีนฟินส์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต รวมทั้งนายจรูญ ก้อนทรัพย์อยู่ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อศึกษาการย้ายปลูกกัลปังหาซึ่งทำขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์กัลปังหาในทะเลอันดามัน

นางสาวเทพสุดา ลอยจิ้ว นักวิชาการศึกษาเรื่องกัลปังหา สถาบันวิจัย กล่าวว่า กัลปังหาในทะเลนั้นมีอยู่กว่า 24 สายพันธ์ สำหรับสายพันธ์เมลิเทีย ซึ่งเป็นกัลปังหาที่พบในน้ำตื้นจะมีหลายสีทั้งสีแดง สีเหลือง สีส้ม เป็นพันธที่พบได้ทั่วไป ในระดับน้ำลึกไม่เกิน 5 เมตร สำหรับสถานการณ์กัลปังหานั้นถือว่ามีปริมาณลดลงเรื่อยๆเช่นเดียวกับปะการัง

สำหรับการย้ายปลูกในครั้งนี้จะทดลองย้ายปลูกใน 2 จุด คือที่บริเวณหน้าหาดเขาขาดซึ่งเป็นจุดที่เจ้าของกระชังนำไปปลูกอยู่แล้ว และอีกจุดคือที่บริเวณสะพานสถาบันวิจัย ซึ่งจุดนี้จะทำให้ต่อการศึกษาวิจัย เพราะหลังจากการย้ายปลูกจะมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

นางสาวเทพดา กล่าวต่อว่า สำหรับกัลปังหาดังกล่าวนั้นจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำไหลเชี่ยวและกินแพล็งตอนขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยพื้นที่ที่มีกัลปังหาดังกล่าวจำนวนมากๆก็จะเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ทั้งลูกปลา ลูกกุ้ง ถ้าทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลก็จะช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเลด้วย

ขณะที่นายจรูญ ก้อนทรัพย์อยู่ เจ้าของกระชังที่เลี้ยงกัลปังหา กล่าวว่า จากการที่ย้ายปลูกกัลปังหาที่ผ่านมาพบว่า กัลปังหาที่นำไปปลูกนั้นเติมโตดีและในระหว่างที่ดูแลกัลปังหาไว้ที่กระชังก็กลายเป็นแหล่งอาศัยของลูกปลาและสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เพราะที่ผ่านมาจะปล่อยให้พ่อแม่พันธ์ปลาที่เลี้ยงในกระชังวางไข่ตามธรรมชาติ

เมื่อปลาวางไข่ลงในทะเลและฝักเป็นตัวก็จะว่ายน้ำเข้าไปอาศัยอยู่ในก่อของกัลปังหา หลังจากนั้นตนก็จะจับลูกปลาที่มีขนาดใหญ่พอประมาณกลับเข้ามาเลี้ยงในกระชังต่อซึ่งทำให้ประหยัดในเรื่องของเงินทุนที่ใช้สำหรับซื้อปลูกปลามาเลี้ยงได้ส่วนหนึ่งด้วย โดยปะการังที่มีการย้ายปลูกในวันนี้มีมากกว่า 100 กอ





กำลังโหลดความคิดเห็น