xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการสถาบันวิจัยฯภูเก็ตบินสำรวจจำนวนพะยูน - เผยพบที่ตรัง 129 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรรณเกียรติ  ทับทิมแสง  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ภูเก็ต
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักวิชาการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลบินสำรวจประชากรพะยูนฝั่งอันดามันเผยพบที่ตรัง 129 ตัว ระบุปีที่ผ่านมามีพะยูนตายจากเครื่องมือประมงส่งมาผ่าพิสูจน์ 7 ตัว แต่ชาวบ้านเชื่อในแต่ละปีมีพะยูนตายเพราะเครื่องมือการทำประมงมากกว่า 10 ตัว

นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้นักวิชาการของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ภูเก็ต กำลังบินสำรวจจำนวนประชากรพะยูนในทะเลอันดามัน

โดยการบินสำรวจประชากรพะยูนนั้นใช้เวลาในการบินสำรวจประมาณ 10 วัน และขณะนี้บินสำรวจมาแล้วช่วงหนึ่งและเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาชุดที่บินสำรวจพบพะยูนในทะเลพื้นที่จังหวัดตรังประมาณ 129 ตัว ซึ่งในส่วนของพื้นที่จังหวัดตรังนั้นพบว่าจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งล่าสุด

โดยการสำรวจครั้งล่าสุดพบพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรังประมาณ 125 ตัว ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์พะยูนในพื้นที่จังหวัดตรังน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพราะพบจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เช่นจังหวัด พังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดระนองพบพะยูนหากินอยู่จำนวนไม่มากนัก โดยรวมทั้งฝั่งอันดามันคาดว่าจะมีพะยูนหากินอยู่ประมาณ 150 ตัว

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจากการบินสำรวจจะพบพะยูนเพิ่มขึ้นที่จังหวัดตรังแต่สถานการณ์พะยูนในฝั่งทะเลอันดามันก็น่าเป็นห่วง ซึ่งจากการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์พะยูนฝั่งอันดามันซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดตรังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องได้แจ้งในทราบว่าในแต่ละปีมีพะยูนที่เสียชีวิตจากเครื่องมือการทำประมงมากกว่า 10 ตัว ซึ่งมีทั้งที่เกยตื้นบริเวณชายหาด ลอยอยู่ในทะเล

แต่ยังไม่รวมที่ถูกลักลอบจับจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้นมีการส่งซากพะยูนที่เสียชีวิตตามที่ต่างๆส่งมาให้เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการณ์ตายของพะยูนจากที่ต่างๆจำนวน 7 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นความสูญเสียที่มหาศาลเมื่อเทียมกับจำนวนพะยูนที่มีอยู่ในทะเลอันดามัน

นายวรรณเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ประมาณ เดือนพ.ค 2553 ที่จะถึงนี้จะมีการบินสำรวจพะยูนร่วมกัน 4 ประเทศเพื่อจัดทำเป็นข้อมูล โดยจะมีประเทศไทย พม่า เวียดนามและกัมพูชา ซึ่งการบินสำรวจนั้นแต่ละประเทศจะบินสำรวจก่อนหลังจากนั้นจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางในการอนุรักษ์พะยูนในธรรมชาติ ส่วนการบินสำรวจของทางสถาบันฯในครั้งนี้จะเสร็จสิ้นการสำรวจในวันที่ 23 ม.ค.53 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น