xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทย-ต่างชาติบินสำรวจฝูงพะยูนตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – นักวิชาการชาวไทย-ต่างชาติ ผนึกกำลังร่วมกัน บินสำรวจแหล่งพะยูนที่ใหญ่สุดในประเทศไทย ที่บริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกด์ ของจังหวัดตรัง พบจำนวนที่ลดลงไปกว่าปีก่อนเล็กน้อย

วันนี้ (24 ม.ค.) ทีมนักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต นำโดย น.ส.กาญจนา อดุลยานุโกศล พร้อมด้วยทีมนักบินชาวต่างชาติ นำโดย มิสเตอร์ เอ็ดดูอาโด้ ได้ร่วมกันบินสำรวจประชากรพะยูน ในท้องทะเลอันดามัน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10 วัน เน้นในพื้นที่เกาะลิบง กับเกาะมุกด์ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีฝูงพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเลถึง 11 ชนิด จากจำนวนทั้งหมด 12 ชนิด พร้อมกันนั้น ยังเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสขึ้นบินสำรวจพะยูนในครั้งนี้ด้วย อาทิ นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์

น.ส.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการมือหนึ่งด้านพะยูนของประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ทีมงานเน้นการบินสำรวจที่เกาะลิบง กับเกาะมุกด์ เนื่องจากเป็นแหล่งเดียวที่จะสามารถอนุรักษ์พะยูนให้คงอยู่ต่อไปในประเทศไทยได้อีกหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม ผลจากการบินสำรวจครั้งล่าสุดนี้พบว่า ประชากรพะยูนยังคงเดิม หรือลดลงเล็กน้อย หรือเหลืออยู่ประมาณ 120-130 ตัว ต่างไปจากการบินสำรวจครั้งก่อนเมื่อปลายปี 2552 ที่มีจำนวนพะยูนมากกว่านี้ประมาณ 5-10 ตัว โดยเฉพาะในบริเวณแหล่งที่พะยูนมักจะมาหากินหญ้าทะเล หรือในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ซึ่งข้อมูลที่แน่ชัดคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกเล็กน้อยในการประเมิน แต่โดยเบื้องต้นพบว่าประชากรพะยูนยังไม่ได้ลดลงอย่างน่าใจหาย

ทั้งนี้ ทางทีมงานขอฝากไปยังพี่น้องชาวประมงว่า เครื่องมือประมงบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อพะยูน เช่น โป๊ะ หรืออวนลอยปลากระเบน อยากจะให้ช่วยกันทำให้มีจำนวนลดลง เพราะปกติก็เป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว และยังจะทำให้พะยูน เต่าทะเล หรือแม้แต่สัตว์น้ำตัวเล็กๆ เข้าไปติดกันเป็นจำนวนมาก จนเกิดความสูญเสียมาอย่างมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว หากไม่ตัดเครื่องมือประมงเหล่านี้ออกไป การอนุรักษ์พะยูนก็จะไม่สำเร็จผล และยังคงมีข่าวคราวการตายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก สำหรับอีกงานหนึ่งที่ทีมงานอยากจะดำเนินการในอนาคตข้างหน้าก็คือ การติดเครื่องมือระบบดาวเทียมในส่วนหางของพะยูน เพื่อช่วยนักวิชาการในการติดตามความเคลื่อนไหว และเป็นวิธีการที่ต่างประเทศนำมาใช้แล้วได้ผลดี

มิสเตอร์ เอ็ดดูอาโด้ ทีมงานนักบินชาวต่างชาติ ซึ่งได้เดินทางมาสำรวจพะยูน หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลอันดามัน โดยเฉพาะจังหวัดตรัง มาเป็นระยะเวลาถึง 2 ปีแล้ว กล่าวว่า ในปีนี้ดูเหมือนว่าจำนวนพะยูนจะคงที่หรือลดลงเล็กน้อย จึงอยากจะฝากให้ทุกๆ คนช่วยกันอนุรักษ์ หรือรักษาสภาพแวดล้อม รวมทั้งสัตว์ทะเลที่หายากของประเทศไทยเอาไว้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นรุ่นลูกรุ่นหลานก็คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งที่มีค่าเช่นนี้อีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต กำลังบินสำรวจพะยูน ก็ต้องพบกับความสูญเสียเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านพระม่วง ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นพะยูนเพศเมีย ยาว 1 เมตร หนัก 120 กิโลกรัม และมีอายุ 4 ปี โดยที่ส่วนหางมีบาดแผลลึกฉกรรจ์ ที่น่าจะเกิดมาจากการถูกเครื่องมือประมง เช่น อวนปลา หรืออวนปู บาดเข้า จนบาดเจ็บสาหัสและสิ้นใจในที่สุด นับเป็นพะยูนที่ตัวแรกที่ตายในปี 2553



กำลังโหลดความคิดเห็น