xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีพลังงานดูระบบผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมที่ภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รัฐมนตรีพลังงานลงภูเก็ตดูระบบผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม กองพลังงานทดแทนเตรียมทุ่มงบ 180 ล.เพิ่ม ที่สนามฟุตบอลเขาแดงภูเก็ตอีก2 ตัวคาดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบจำหน่ายเพิ่มขึ้น

วันนี้ ( 14 กุมภาพันธ์ 2553) นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะ และ นายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต เยี่ยมชมสถานีพลังงานทดแทนควนแหลมพรหมเทพ ซึ่งเป็นที่ตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายณัฐวัชต์ จิรวัชรคุณารักษ์ หัวหน้ากองพัฒนาพลังงานทดแทน ฝ่ายพัฒนาและแผนงานโครงการ กฟผ. บรรยายสรุปการทำงานของสถานีพลังงงานทดแทนแหลมพรหมเทพ

โดยนายณัฐวัชต์ กล่าวว่า การใช้พลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนของ กฟผ. เริ่มจากการศึกษาทางทฤษฏีและระบบการผลิตจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการสำรวจข้อมูลลมในประเทศไทย โดยอาศัยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าอิทธิพลของลมที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ประกอบด้วยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน

สำหรับสถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพจังหวัดภูเก็ต กฟผ.ได้จัดตั้งสถานีทดลองผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมที่ควนพรหมเทพ จ.ภูเก็ต เมื่อปี 2530 โดยติดตั้งและทดสอบในขนาดต่างๆ คือ ขนาดเล็ก เพื่อประจุแบตเตอรี่ มีขนาด 0.8 กิโลวัตต์, 1.2 กิโลวัตต์, 2 กิโลวัตต์, 10 กิโลวัตต์ กับขนาด 18.5 กิโลวัตต์, 150 กิโลวัตต์ และในปี 2539 เชื่อมโยงเข้าระบบจำหน่ายของ กฟภ.โดยตั้งอยู่บนเนินเขารับลมได้ทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุม

นายณัฐวัชต์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงพลังงานได้มียุทธศาสตร์พลังงานทดแทน พ.ศ.2551-2556 ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าได้มีเป้าหมายที่จะให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนด้านพลังงานลมมีความต่อเนื่อง และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ กองพัฒนาพลังงานทดแทน (กพท-พ.) ฝ่ายพัฒนาและแผนงานโครงการ(อพผ.) กฝผ. จึงได้จัดทำแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพื่อติดตั้งกังหันลมขนาดกำลังผลิต 2x1,200 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 2,400 กิโลวัตต์ บริเวณสนามกีฬาตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ในปี พ.ศ.2554

โดยติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดไม่ต่ำกว่า 1,200 กิโลวัตต์ จำนวน 2 ชุด บริเวณสนามกีฬาตำบลราไวย์ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 180 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานลมที่ดี เพื่อสนองตอบนโยบายภาครัฐ ในการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อันเนื่องจากการเผาไหม้ ช่วยลดปัญหาเรื่องโลก

กำลังโหลดความคิดเห็น