xs
xsm
sm
md
lg

ระดมสมองออกแบบศูนย์ประชุมฯ ภูเก็ต แนะเป็นแลนด์มาร์ก-อัตลักษณ์อันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต-กรมธนารักษ์เปิดเวทีระดมความเห็นรูปแบบศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติที่ภูเก็ต เพื่อให้ออกมาตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่และการใช้งานได้ดีที่สุด ขณะที่ทุกภาคส่วนในภูเก็ตเห็นพ้องศูนย์ประชุมฯ จะต้องเป็นแลนด์มาร์กและเป็นอัตลักษณ์ของภูเก็ต อันดามัน พร้อมทั้งเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.นี้

วันนี้ ( 6 ก.พ.) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต งานสำรวจ และออกแบบรายละเอียดอาคาร (Detail Design) การศึกษาผลกระทบสิ่งแวลด้อม และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยมีนายทศพร เทพบุตร และนายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันระดมความคิดเห็นเสนอแนะแนวความคิดการออกแบบรายละเอียดศูนย์ประชุมฯที่จะก่อสร้างบริเวณที่ราชพัสดุแปลงที่ ภก.153 เนื้อที่ 150 ไร่ ตั้งอยู่ที่ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

รศ.สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี ประธานโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต งานสำรวจ และออกแบบรายละเอียดอาคาร การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ได้ขอรับการจัดสรรเงินภายใต้แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ระยะที่ 2 ได้วงเงิน 2,600 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.153 บริเวณหาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ 3 ขั้นตอน คือ การดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จากนั้นจึงดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือ การประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการประมาณเดือนมิถุนายน 2553 และขั้นตอนที่ 3 จัดจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ ประมาณเดือนกรกฎาคม 2553

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการชี้แจงแนวคิดเบื้องต้นและรับทราบข้อมูลตลอดจนความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆในภูเก็ต เพื่อนำไปใช้ประกอบการออกแบบรายละเอียดต่อไป ซึ่งการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ นั้น เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง เป็นแหล่งงานและกระจายรายได้ให้ท้องถิ่นจากการดำเนินโครงการ พัฒนาที่ราชพัสดุ เพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์กับภาครัฐและภาคเอกชน สร้างความมั่นคงให้จังหวัดภูเก็ตสู่ความเป็นมิตรไมตรีในระดับนานาชาติและประชาคมโลก โดยจะต้องไม่สร้างกิจกรรมแข่งกับเจ้าของท้องที่เดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น โรงแรม สถาบันเทิง เป็นต้น

สำหรับแนวทางการพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯนั้น ในเบื้องต้นจะมีการก่อสร้างอาคาร 2 หลัง สำหรับการจัดประชุมสัมมนาและการจัดแสดงนิทรรศการ โดยบริเวณภายในใช้เป็นกิจกรรมเพื่อเชิดชูวัฒนธรรมและเสริมสร้างสังคมของท้องถิ่นให้ได้รับประโยชน์ของทัศนียภาพท้องทะเลและอุทยานแห่งชาติ คำนึงถึงความปลอดภัยของมหาชนจากภัยธรรมชาติและการก่อการร้าย เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนานาชาติและคนไทย หลีกเลี่ยงการสร้างมลภาวะและผลกระทบต่อท้องที่ ด้วยการสร้างอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และออกแบบโครงการเพื่อให้คนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจ แต่ยังมีข้อจำกัดของที่ดิน เกี่ยวกับกฎหมายและข้อกำหนดความสูงของอาคาร เช่น ความสูง ประเภทการใช้ที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งยังไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานบริการด้านประปาและโทรศัพท์

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูเก็ตเห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ โดยนายเมธี ตันมานะตระกูล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯจังหวัดภูเก็ตรอคอยมานานกว่า 10 ปีแล้วซึ่งขณะนี้เริ่มที่จะเห็นเป็นรูปธรรมแล้วเมื่อมีการออกแบบและได้รับการจัดสรรงบประมาณ แต่อยากจะทำความเข้าใจให้ชัดเจนระหว่างสัดส่วนของการเป็นศูนย์ประชุมฯ กับส่วนที่เป็นศูนย์แสดงนิทรรศการ เนื่องจากแบบที่จะออกมานั้นจะต้องมีความแตกต่างกันตามประเภทของการใช้งาน ทางกรมธนารักษ์ควรที่จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการศูนย์ประชุมและนิทรรศการมาร่วมเสนอแนวคิดการออกแบบ เช่น ไบเทค อิมแพ็ค เป็นต้น เพื่อให้ได้รูปแบบที่ใช้งานได้จริง และไม่มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งหากให้เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการก็ควรน่าที่จะเปิดประมูลหาผู้มารับมาดำเนินการตั้งแต่เริ่มตอกเสาเข็มเพราะการขายตลาดไมค์นั้เนต้องทำล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี และแบบที่ออกมานั้นจะต้องมีความเป็นมาตรฐานสากล สามารถรองรับการประชุมในระดับนานาชาติได้อย่างมืออาชีพ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งเห็นว่ารัฐไม่ควรที่จะสร้างโรงแรมภายในโครงการ เพราะขณะนี้ภูเก็ตมีโรงแรมที่จะให้บริการกว่า 50,000 ห้องแล้ว

ขณะที่นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตนเป็นห่วงเรื่องของระยะเวลาการดำเนินการที่กำหนดไว้ 6 เดือน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องใช้เวลานาน และในการบริหารจัดการนั้นอยากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภูเก็ต ไม่ใช่เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทที่เข้ามาบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ซึ่งควรที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงการดังกล่าวด้วย เพราะการมีศูนย์ประชุมฯ นับเป็นสิ่งที่ดีที่จะสร้างอาวุธทางการตลาดให้กับการท่องเที่ยวของภูเก็ตอีกทางหนึ่ง

นายทศพร เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต กล่าวว่า แบบที่จะออกมานั้นควรที่จะมีความเป็นอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นภูเก็ตและอันดามัน รวมทั้งจะต้องเป็นแลนด์มาร์คของภูมิภาคนี้ด้วยเหมือนกับออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อศูนย์ประชุมสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวอยากจะไปก็จะเกิดกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมต่างเห็นร่วมกันว่ารูปแบบของศูนย์ประชุมฯที่จะเกิดขึ้นนั้นจะต้องมีความเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นภูเก็ตและอันดามัน ควบคู่กับการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ระบบการจราจ ตลอดจนการสร้างกิจกรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์กับคนท้องถิ่น

ขณะที่นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังจากที่รับฟังความเห็นในครั้งนี้แล้ว ข้อมูลที่มีการนำเสนอทั้งหมดทางบริษัทที่ปรึกษาจะต้องนำไปประมวลผลเพื่อออกแบบศูนย์ประชุมให้ตรงกับความต้องการและการใช้งานให้มากที่สุด โดยเฉพาะหลายๆหน่วยงานต้องการที่จะให้ศูนย์ประชุมที่ออกมามีความเป็นอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นภูเก็ตรวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องมีความชัดเจนระหว่างการเป็นศูนย์ประชุมหรือศูนย์แสดงสินค้านิทรรศการ ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าใน 5-10 ปีนี้ ตลาดประชุมสัมมนาหรือตลาดไมค์จะมาแรงมากซึ่งคิดว่าจะเกิดความคุ้มทุนกับภาษีของประชาชนที่ได้ลงทุนไป นอกจากนี้ทางภาคเอกชนต้องการที่จะให้หาผู้บริการจัดการและทำตลาดโดยเร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

นางอัญชลี กล่าวอีกว่า ตามกำหนดการเริ่มนั้นทางที่ปรึกษาจะต้องดำเนินกาศึกษาออกแบบฯโครงการนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2553 นี้ แต่เนื่องจากทางคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเห็นว่าภายในโครงการนี้ไม่ควรที่จะมีโรงแรมเพราะภูเก็ตมีโรงแรมจำนวนมากแล้วและรัฐไม่ควรที่จะลงทุนแข่งกับเอกชนจึงต้องมีการแก้แบบโครงการใหม่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะทันในเดือนเมษายนนี้ จำเป็นที่จะต้องเลื่อนออกไปให้สิ้นสุดในเดือนก.ค.โดยการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยจะจัดซื้อจัดสร้างภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

รวมทั้งจะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งจุดนี้จะมีการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากได้ผ่านเวลาของ ส่วนที่ยังมีปัญหาในเรื่องของผังเมืองก็จะได้ไปหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น