ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เผยอาชญากรทางเทศโนโลยีข้ามชาติ มุ่งเลือกประเทศกำลังพัฒนาเป็นเป้าหมายเข้ามาตั้งฐานเพื่อกระทำความผิด ตำรวจสากลกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก จัดประชุมหามาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ให้มีความเท่าทันเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอาย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (2 ก.พ.) พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมความร่วมมือความร่วมมือสมาชิกตำรวจสากลภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก เรื่อง “ความร่วมมือการปราบปรามอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี่ข้ามชาติ ครั้งที่ 11” หรือการประชุม INTERPOL Asia-South Pacfic Working Party on I.T.Crime ซึ่งสำนักตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขึ้นที่ โรงแรมฮิวตัน อาเคเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 2-4 ก.พ 2553 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมจำนวน 14 ประเทศ
พ.ต.อ.พิสิษฐ เปาอินทร์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทศโนโลยี กล่าวถึงการจัดประชุมความร่วมมือระหว่างตำรวจสากลเกี่ยวกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข่าวสารข้อมูลเพื่อให้ตำรวจมีความรู้เท่าทันกับการพัฒนาของอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันนี้ระบบเทคโนโลยีมีการพัฒนาที่รวดเร็วและกลุ่มอาชญกรรมเหล่านี้ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้นเรื่องของความร่วมมือระหว่างกันในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนมาร่วมประชุมด้วยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี่ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ที่ทำรวจไทยจะต้องพัฒนาให้มีความเท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่
“สำหรับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้นถือว่าเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากผู้กระทำความผิดสามารถอยู่ที่ใหนก็ได้ในโลกนี้ และสามารถที่จะก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นกับที่ใดก็ได้ ซึ่งเป็นอาชญากรรมแบบไร้พรหมแดนซึ่งอาชญากรรมดังกล่าวสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล เพราะฉะนั้น การจะปราบอาชญากรรมดังกล่าวจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน”
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ กล่าวว่าจากความร่วมมือระหว่างกันของกลุ่มประเทศสมาชิกในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติทางด้านเทคโนโลยี่พบว่าสามารถจัดกุมผู้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มแอ็กข้อมูลของธนาคาร และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาความร่วมมือเกิดขึ้นจากการประสานงานระหว่างกันมากกว่าที่จะเป็นการติดต่ออย่างเป็นทางการทำให้สามารถยับยั้งความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องของการนำคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศมาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านสืบสวนสอบสวน รวมทั้งพัฒนาเทคนิคใหม่
นอกจากนั้น ยังเป็นการแลกเปลี่ยนการจัดเก็บข้อมูลพยานหลักฐานของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นการเก็บร่องรอยพยานหลักฐานในระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี่อย่างรวดเร็ว
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดด้านอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีนั้นที่ผ่านมาได้รับการประสานข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละปีมีมากเป็น 1,000 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยจะเป็นข่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งคดีที่มีการดำเนินการจับกุมนั้นส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้นพบว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยวทำให้กลุ่มเหล่านี้มองว่าการเข้ามาตั้งฐานกระทำความผิดสามารถเข้าออกได้ง่ายโดยแฝงตัวเข้ามาในลักษณะของนักท่องเที่ยว ซึ่งจริงๆแล้วก่อนหน้านี้อาชญากรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีการพัฒนาก่อน
แต่เมื่อประเทศเหล่านี้มีการใช้กฏหมายเข้มแข็ง มีการพัฒนาองค์ความรู้จนเท่าทันกับกลุ่มอาชญากร อาชญากรเหล่านี้ก็จะไหลไปสู่ประเทศที่ยังด้อยกว่าแต่เมื่อไหร่ที่การพัฒนาองค์ความรู้เท่าทันกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอาชญากรเหล่านี้ก็จะไหลไปสู่ประเทศที่ยังไม่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ดีพอ เพราะฉะนั้นเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้เท่าทันจึงมีความสำคัญอาย่างยิ่งในการปราบปรามอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีข้ามชาติ