ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดประชุมทางวิชาการนานาชาติ “อนาคตของการเดินทางของมนุษย์” หวังแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องของการจราจรและปัญหาโลกร้อน
วันนี้ (22 ม.ค.53) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “First International Conference of Thai Society for Transportation & Traffic Studies” ในหัวข้อ “อนาคตของการเดินทางของมนุษย์” ซึ่งทางสมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น ที่ โรงแรมเมโทรโพล จังหวัดภูเก็ต โดยมีนักวิชาการ นักศึกษาจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม เช่น ไทย ไต้หวัน ตุรกี ญี่ปุ่น มาเลเซีย บังคลาเทศ เป็นต้น
ศ.พิชัย ธานีรณานนท์ นายกสมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย กล่าว่า การสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของการจราจร และปัญหาโลกร้อน ซึ่งขณะนี้หลายๆ ประเทศค่อนข้างจะประสบปัญหาค่อนข้างหนัก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่สามารถแก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และสามารถที่จะนำมาใช้เป็นแบบอย่างได้
โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ซึ่งได้มีการนำเอาเทคโนโลนีที่ทันสมัยมาใช้ในการแก้ปัญหา รวมถึงการปลูกฝังเรื่องของวินัยด้านการจราจร ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำหรับประเทศไทยแล้วคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่ทั้งการสร้างวินัยในการใช้รถใช้ถนน และการนำเทคโนโลยีมาใช้
ขณะที่นายชวน กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการท้าทายแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน และวิกฤตด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น และสำหรับภาคการขนส่งยังมีปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกกว่า 1.3 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ประเทศไทยก็เสียชีวิตถึง 12,000 คนต่อปี ซึ่งทราบว่าในส่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีกิจกรรมในการช่วยลดการปลดปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ก่อตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลภายใต้ชื่อองค์กรพัฒนาศักยภาพด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีแผนยุทธศาสตร์การจัดการสภาวะโลก ปี 2008-2012 กรุงเทพมหนครภายใต้การนำของประชาธิปัตย์ก็ได้จัดทำแผนลดกาซเรือนกระจกของกรุงเทพมหานคร ในระยะยาว กระทรวงพลังงานได้มีแผนพลังงานทางเลือก ปี 2008 -2022 ไว้รองรับอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่บริหารประเทศในปี 2537 ได้ริเริ่มโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 จำนวน 5 ล้านไร่ เพื่อปลูกต้นไม้จำนวนประมาณ 400 ล้านต้น โดยมีแนวคิดพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวว่า การบริจาคเงินลงทุนในงานนี้มาจากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ภายใต้พื้นฐานความสมัครใจ รัฐบาลเพียงทำหน้าที่อำนวยความสะดวก
เช่น กรณีของบริษัท ปตท.มหาชน (จำกัด) ที่มีส่วนสนับสนุนการปลูกป่าถึง 1 ล้านไร่จนแล้วเสร็จในปี 2548 ทำให้เรามีสถิติการปลูกป่าทดแทนมากกว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นครั้งแรก ซึ่งต้นไม้เล่านี้ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบของสภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
นายชวน กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นจากกรณีที่มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยจึงได้ร่วมกับองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ในการรณรงค์ช่วง 10 ปี แห่งความปลอดภัยภัย และได้จัดเตรียมแผนความปลอดภัยทางถนน โดยมีเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุการตายบนถนนถึง 50% ภายในระยะเวลา 10 ปี และยังบรรจุการลดอุบัติเหตุการตายบนถนนเป็นนโยบายวาระแห่งชาติอีกด้วย