xs
xsm
sm
md
lg

กรม.วิทย์ เตรียมวิจัยเซลล์เม็ดเลือดโบทูลินั่ม-ไข้หวัดใหญ่ ก่อนต่อยอดทดลองในคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทย จับมือญี่ปุ่น เตรียมวิจัยเซลล์เม็ดเลือดรักษาโรคโบทูลินั่ม-ไข้หวัดใหญ่ ใช้เวลา 4 ปี ก่อนต่อยอดทดลองในคน

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้คิดค้นชีวภัณฑ์ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโบทูลิซั่มซึ่งเกิดจากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บ โดยการผลิตโมโนโคลนัลแอนติบอดีจากเซลล์เม็ดเลือดในคนต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1,H3,B และการผลิตตโมโนโคลนัลแอนติบอดีจากเซลล์เม็ดเลือดในคนต่อโรคโบทูลิซั่ม ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ถึง เดือนกรกฎาคม 2556 และเมื่อสำเร็จแล้วขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการศึกษาทดลองในคน

นพ.จักรธรรม กล่าวต่อว่า การจัดทำโครงการในครั้งนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยและญี่ปุ่น เพื่อจะนำไปพัฒนาความรู้ในการวิจัยต่อไป ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขยังได้เข้าเป็นตัวแทนร่วมก่อตั้งเครือข่ายและมีความร่วมมือด้านวิชาการ ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอุจจาระร่วงกับประเทศสมาชิกเครือข่าย PulseNet Asia Pacific ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก โดยการสนับสนุนของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center for Diseases Control and Prevention) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 14 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไทย

ด้านนพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการเข้าร่วมประชุมประจำปีของ PulseNet Asia Pacific เมื่อเร็วๆนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมจัดทำวิธีมาตรฐาน PFGE สำหรับเชื้อวิบบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) และร่วมทำการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboratory comparison) วิธี PFGE ของเชื้อเซลโมเนลลา (Salmonella) และซิเกลล่า (Shigella)ร่วมกับประเทศสมาชิกโดยวิธีดังกล่าวนี้เป็นเทคนิคการแยกดีเอ็นเอที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 25 กิโลไบต์ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจาก2 ทิศทาง

เพื่อผลักดันให้ดีเอ็นเอวิ่งไปบนแผ่นเจล กระแสไฟฟ้าจะถูกปล่อยออกมาสลับกันเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ด้วยปริมาณกระแสไฟฟ้าและเวลาที่เท่ากัน ทำให้โมเลกุลของดีเอ็นเอต้องปรับทิศทางเพื่อวิ่งให้เข้าทางกับกระแสไฟฟ้า ให้เห็นเป็นลายพิมพ์พันธุกรรมได้บนแผ่นเจล ซึ่งวิธี PFGE นี้จะช่วยในการสอบสวนและเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งการศึกษาหาความสัมพันธ์ของเชื้อที่พบในแหล่งต่างๆได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น