ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สมาชิกและพนักงานสหกรณ์บริการรถยนต์ บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด หรือลีมูซีนสนามบินประมาณ 200 คน พร้อมด้วยรถยนต์บริการ 150 คัน รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเพิ่มจำนวนรถยนต์บริการในท่าอากาศยานภูเก็ตของ บริษัทภูเก็ตไม้ขาวสาคู จำกัด
วันนี้ (20 ม.ค.53) ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลาง จ.ภูเก็ต สมาชิกและพนักงานสหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด หรือลีมูซีนสนามบิน ประมาณ 200 คน พร้อมด้วยรถยนต์บริการ 150 คัน รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเพิ่มจำนวนรถยนต์บริการในท่าอากาศยานภูเก็ตของ บริษัทภูเก็ตไม้ขาวสาคู จำกัด จำนวน 30 คัน ซึ่งคณะกรรมการพิจารณารายได้ บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เห็นชอบอนุมัติให้เพิ่มรถจำนวนดังกล่าว
นอกจากนี้คณะกรรมการกลั่นกรอง เรื่อง การจดทะเบียนรถยนต์สาธารณะและรถยนต์บริการจังหวัดภูเก็ต ได้มีมติเห็นชอลตามคณะกรรมการพิจารณารายได้ฯ และเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายกนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายชูเกียรติ ปัญญาไวย์ รองประธานสหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด (ลีมูซีน) กล่าวว่า ตามมติการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการประกอบการรถรับจ้างภายในสนามบินภูเก็ต ครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2549 ได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า การเพิ่มจำนวนรถยนต์ประเภทใดๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ กลั่นกรองระดับจังหวัดก่อน และให้เพิ่มจำนวนตามสัดส่วนที่คณะกรรมการฯ กำหนดเท่านั้น
แต่ว่าการเพิ่มจำนวนรถยนต์บริการตามมติคณะกรรมการพิจารณารายได้ของบริษัทฯ ดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นการกระทำที่ลัดขั้นตอนและไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่มีการทำร่วมกันก่อนนี้ แต่เป็นการนำเสนอจากส่วนกล่าวลงมายังจังหวัดซึ่งถือเป็นการกระทำแบบมัดมือชก
“สหกรณ์ฯ รับไม่ได้กับการกระทำดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันจำนวนรถยนต์ให้บริการในสนามบินมีจำนวนเพียงพอต่อการให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว หากเพิ่มจำนวนรถก็จะทำให้เจ้าของรถซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ มีภาระในการแข่งขันกันเองเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการไม่ได้เพิ่มขึ้น
โดยปัจจุบันสหกรณ์มีจำนวนรถให้บริการ 150 คัน แต่รับภาระจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ท่าอากาศยานภูเก็ต เดือนละ 1.3 ล้านบาท และเพิ่ม 10% ทุกปี ทำให้เกิดภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องโดยเมื่อปีที่ผ่านมาขาดทุนรวมประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งการใช้บริการแต่ละเที่ยวเจ้าของรถจะต้องจ่ายให้กับสหกรณ์ฯ 20% เพื่อจ่ายให้กับสหกรณ์ฯ ใช้ในการเป็นค่าบริหารจัดการ และจ่ายสัมปทานให้กับการท่าฯ” นายชูเกียรติกล่าว
ขณะที่นายวรวิทย์ สีสาคูคาม กรรมการสหกรณ์ฯ กล่าวว่า การดำเนินการของทางการท่าฯ ถือเป็นการลัดขั้นตอน ซึ่งหากจะมีการเพิ่มจำนวนรถให้กับบริษัทเอกชนอีก 30 คันก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกของสหกรณ์ฯ โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ที่จะได้ลดต่ำลง และการเพิ่มจำนวนรถในช่วงเวลานี้ก็ไม่เหมาะสม เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามานั้นจะมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ จึงทำให้ไม่มีการมาใช้บริการรถยนต์บริการเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาด้วยค่าสัมปทานที่สูงต้องรับแบกภาระการขาดทุนโดยปีที่ผ่านมาขาดทุนถึง 4 ล้านบาท จึงมาขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าฯ และอยากให้มีการทบทวนในเรื่องนี้
ทางด้านนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับทราบรายละเอียดแล้วในเบื้องต้น แต่คงต้องขอศึกษาข้อมูลที่มาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยขอเวลา 7 วันในการพิจารณาให้คำตอบว่าเป็นอย่างไร จะเห็นตามมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้การท่าฯ และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ระดับจังหวัดหรือไม่ เพราะจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เชื่อว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนคงไม่มีปัญหา