xs
xsm
sm
md
lg

TG แห้วฝูงบินใหม่ คลังปัดค้ำเงินกู้ 7.6 พัน ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังปัดกู้เงิน 7.6 พันล้านให้การบินไทยซื้อเครื่องบินใหม่ ระบุคำขอไม่มีเหตุผล “กรณ์” ย้ำรัฐวิสาหกิจด้านพาณิชย์ขอคลังกู้ จะต้องมีคำอธิบายชัดเจน ไฟเขียวธอส.กู้ 1.6 หมื่นล้านปล่อยกู้รายย่อยซื้อบ้าน เตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งอีกครั้งในไตรมาสแรกวงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านเน้นผู้สูงอายุและรายย่อยเป็นหลัก ด้านการท่าฯ ยัน เจแปนแอร์ไลน์ล้ม รายได้ไม่สะเทือน ชี้เป็นสัญญาณลบต่อธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชีย

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการกำกับหนี้สาธารณะในครั้งนี้ ที่ประชุมไม่อนุมัติตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI เสนอขอให้กระทรวงการคลังกู้เงินให้จำนวน 7,600 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระค่าเครื่องบินแอร์บัส เอ 330 ฝูงใหม่ที่สั่งซื้อจากฝรั่งเศสซึ่งจะรับมอบสิ้นเดือนนี้ และแม้ว่าการบินไทยจะขอให้กระทรวงการคลังกู้ยืมระยะสั้นและจะชำระคืนในภายหลังแต่เห็นว่าการบินไทยยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนเพียงพอว่าทำไมต้องให้กระทรวงการคลังกู้แทน อีกทั้งที่ผ่านมาตนมีนโยบายชัดเจนว่าหากจะให้กระทรวงการคลังกู้แทนหรือค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการด้านพาณิชย์ต้องมีคำอธิบายชัดเจน

สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ที่จะกู้เพิ่มอีก 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ประชุมเห็นชอบ เพราะเป็นการกู้เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนเพิ่มเติม โดยจากนี้จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป

นายกรณ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับรายงานผลการบริหารหนี้สาธารณะของปีงบประมาณ 52 ซึ่งพบว่าสามารถลดการก่อหนี้ลงได้จากเป้าหมาย 1.375 ล้านล้านบาท เหลือ 1.125 ล้านล้านบาท หรือที่ 83% เนื่องจากติดกระบวนการต้องรายงานรัฐสภาตามระยะเวลา แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเพราะเพียงพอต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอย

"จากการก่อหนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นการก่อหนี้ระยะสั้นเป็นส่วนมากนั้น ขณะนี้วงเงินสะสมอยู่ในระดับที่จะปรับเปลี่ยนเป็นเงินกู้ระยะยาวแล้ว ดังนั้นในปลายไตรมาสแรกของปีนี้ คลังจึงเตรียมจะออกพันธบัตรออมทรัพย์หรือพันธบัตรไทยเข้มแข็งอีกรอบที่วงเงินประมาณ 5-8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป แนวทางจำหน่ายจะคล้ายกับครั้งแรกที่ออกคือเน้นผู้สูงอายุหรือรายย่อยที่พึ่งพารายได้จากเงินฝากเป็นหลักคาดจะประสบความสำเร็จเหมือนครั้งก่อน ทั้งนี้ภาระหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 45%ต่อจีดีพี" นายกรณ์กล่าว

สำหรับกรอบการบริหารหนี้สาธารณะของปีงบ 53 อยู่ที่ 1.68 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริหารเงินกู้ในประเทศ 6.7 แสนล้านบาท เงินกู้ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 3.2 แสนล้านบาท และบริหารเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจสำหรับหนี้ในประเทศอีก 3.4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้แผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวนี้ยังไม่นับรวมแผนการกู้เงินตามพ.ร.บ.กู้เงินฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณารัฐสภา ซึ่งหากรวมจะมีผลให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มเป็น 58%ต่อจีดีพี

**AOT ไม่สะเทือน"เจแปนแอร์ไลน์"ล้ม

นายนิรันดร์ ธีรนาธสิน ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยถึงกรณีที่สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (เจเอแอล) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นและเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียประสบปัญหาผลประกอบการขาดทุนสะสมว่า กรณีดังกล่าวคงไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของทอท. และผู้ใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากคาดว่าสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์(เอเอ็นเอ )ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น จะเข้ามาบริหารงานแทน เหมือนกับกรณีของสายการบิน ลุฟฮันซ่า ที่เข้ามาบริหารงานสายการบิน ออสเตลียนแอร์ไลน์ และสวีสแอร์ไลน์ ที่มีประสบผลขาดทุน

“เชื่อว่าปัญหานี้น่าจะมีทางออก เพราะเอเอ็นเอ คงจะเข้ามาบริหารงานแทน และก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของทอท.ที่เก็บกับเจแปนแอร์ไลน์”นายนิรันดร์ กล่าว

สำหรับสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ได้ทำการบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไป-กลับ จำนวน 62 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แบ่งเป็น ขนส่งผู้โดยสาร 56 เที่ยวบิน และขนส่งสินค้า 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งทอท. มีรายได้จากค่าทำเนียมสนามบิน ซึ่งคิดจากผู้โดยสารที่ 700 บาทต่อคน ค่าเช็คอินจากสายการบินอีก 25 บาทต่อคน และค่าลงจอดสนามบินประมาณ 40,000 บาทต่อเที่ยว หรือรวมแล้วประมาณ 150,000 บาทต่อเที่ยวบิน ส่วนกรณีดังกล่าวคิดเป็นความเสียหายเพียงร้อยละ 1 ของผู้ใช้บริการเท่านั้น เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีสายการบินมาใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึง 750 เที่ยวบินต่อวัน

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ประสบปัญหาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณของธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียเริ่มที่จะประสบปัญหาในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และแม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มที่จะฟื้นตัวแล้ว แต่สายการบินบางสายที่มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงหากไม่มีการปรับตัว ก็คงต้องรับภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงต่อไป

**"ปิยสวัสดิ์"ฟุ้งปี52บินไทยพลิกกำไร

ขณะที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทในปี 2552 นี้คาดว่าจะกลับมามีกำไรหลังจากที่ปี 2551 ขาดทุนกว่า 21,000ล้านบาท เนื่องจากผู้โดยสารในไตรมาส 4 ปี 2552 โดยเฉพาะในเดือนธ.ค. 2552 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรสุทธิ แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ การบินไทยยังสามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณ 11,000 ล้านบาท และในปี 2553 คาดว่าการบินไทยจะมีกำไรก่อนหักภาษีและอัตราแลกเปลี่ยนที่ 4,3000 ล้านบาท และมีรายได้ 190,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้รายงานข่าวจากต่างประเทศว่า สายการบินแจแปน แอร์ไลน์ เตรียมที่จะขอยื่นล้มละลายต่อศาลกรุงโตเกียวในวันที่ 19 ม.ค. 2553 นี้ ซึ่งเป็นขั้นแรกของกระบวนการปรับโครงสร้างบริษัทภายใต้การช่วยเหลือของรัฐบาล หลังจากบริษัทประสบภาระหนี้สินจำนวนมาก และหน่วยงานฟื้นฟูกิจการธุรกิจเอกชน ของภาครัฐ ที่จะกำกับดูแลการปรับโครงสร้างสายการบินดังกล่าวจะสนับสนุนเงินลงทุนประมาณ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับสายการบินเพื่อให้ยังสามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป พร้อมทั้งจะขอให้เจ้าหนี้ช่วยยกหนี้ให้เจเอแอลจำนวน 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย

ทั้งนี้ สายการบินเจเอแอล ได้ประสบปัญหาขาดทุนสะสมเกือบ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงตั้งแต่เดือน เม.ย. – ก.ย.2552 และได้ประกาศว่า มีแผนปลดคนงานราว 13,000 คนหรือเกือบ 30% ของพนักงานทั้งหมดภายในระยะเวลา 3 ปี และลดเส้นทางการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมเกือบ 50 เส้นทาง เพื่อประคองให้กิจการอยู่รอดและสามารถทำกำไรได้ ขณะเดียวกันสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ส และสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์สของสหรัฐ กำลังแย่งกันเสนอเงินก้อนใหญ่ราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯซื้อหุ้นในเจเอแอล เพื่อหวังได้เข้าถึงเส้นทางบินของเจเอแอลด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น