ตรัง - คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง มีมติให้เปิดประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นในท้องที่จังหวัดตรังโดยวิธีพิเศษ เป็นรอบที่ 6 ในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2553 นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-11.00 น.
วันนี้ (16 ม.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทางจังหวัดได้เปิดประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นในท้องที่จังหวัดตรังมาทั้งหมด 5 ครั้ง แบ่งเป็นการเปิดประมูลด้วยระบบอีออกชั่น 4 ครั้ง พร้อมกับการพิจารณาปรับลดราคากลางลงมาทั้งหมด 3 ครั้ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553 ได้ประกาศใช้วิธีเสนอราคาด้วยวิธีการยื่นเอกสารประมูลราคาแทน 1 ครั้ง โดยมีผู้สนใจซื้อเอกสารประมูลราคาไปทั้งหมด 7 ราย ราคากลางที่ตั้งไว้ คือ สัญญาจัดเก็บท้องที่อำเภอปะเหลียน 63 ล้านบาท ส่วนสัญญาจัดเก็บท้องที่อำเภอกันตัง และสิเการวมกัน 11.2 ล้านบาท แต่เมื่อถึงเวลา ในท้องที่อำเภอปะเหลียน มีผู้เข้ายื่นเอกสาร 2 ราย
ทั้งนี้ ประกอบไปด้วย หจก.ประยงค์ศิลป์การโยธา และ หจก.ซุ่นเฮงก่อสร้าง แต่พบว่าทั้ง 2 ราย เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง โดย หจก.ประยงค์ศิลป์การโยธาเสนอราคา 39 ล้านบาท ส่วน หจก.ซุ่นเฮงก่อสร้าง เสนอราคา 35 ล้านบาท คณะกรรมการประมูลราคาจึงต้องทำการเจรจาต่อรองให้ผู้เสนอราคาเสนอให้ได้ตามราคาหรือสูงกว่าราคากลาง แต่ผู้ประกอบการไม่ตกลง ส่วนสัญญาจัดเก็บท้องที่อำเภอกันตัง และสิเการวมกัน ไม่มีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสารประมูลราคาแม้แต่รายเดียว คณะกรรมการประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่น จึงนำเรื่องเสนอคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง ให้พิจารณาแก้ปัญหา
ในที่สุดคณะกรรมการพิจารณาฯ จึงได้มีมติให้ประกาศเปิดประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรังอีกครั้งโดยวิธีพิเศษ ในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2553 นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-11.00 น. ณ สถานที่กลาง (ห้องปฏิบัติการชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดตรัง ) และเปิดซองเสนอราคาในวันเดียวกัน ในที่นี้หากมีการเสนอราคาประมูลต่ำกว่าราคากลาง คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง จะใช้ดุลยพินิจตามระเบียบของทางราชการในการให้ผู้เสนอราคารายใดเป็นผู้รับสัมปทาน
นายพิพัฒน์ อมรวัตพงศ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฏหมาย บริษัท รังนกตรัง จำกัด กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ได้เข้ายื่นเอกสารประมูลอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรังครั้งที่ 5 ที่ผ่านมาว่า (5 ม.ค.53)ทั้งที่ได้ซื้อเอกสารประมูลราคาไปแล้วว่า ในส่วนราคากลางที่จังหวัดได้กำหนดไว้ 63 ล้านบาท และ 11.2 ล้านบาท ยังยืนยันเช่นเดิมว่าสูงเกินไป ไม่คุ้มกับการเข้าไปดำเนินการจัดเก็บ ทั้งนี้เคยเปิดเผยไปแล้วว่า ราคากลางน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท และ 5 ล้านบาทตามลำดับ ทางบริษัท รังนกตรัง ก็พร้อมจะร่วมประมูลราคาด้วยอย่างแน่นอน
ส่วนที่ได้ซื้อเอกสารประมูลไปนั้น เพื่อนำไปศึกษาเงื่อนไขในการปฏิบัติของผู้รับสัมปทานรายใหม่ตามสัญญาเท่านั้น แต่ตั้งใจไว้แล้วว่าถ้าราคากลางยังอยู่ตามนี้ทางบริษัทไม่ร่วมประมูลอย่างแน่นอน
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาของจังหวัดตรังขณะนี้ก็คือ จะต้องกำหนดราคากลางใหม่ และเปิดประมูลใหม่ พร้อมจะต้องพิจารณาผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพในการจัดเก็บ เพราะสัมปทานล่าสุดจังหวัดตรังได้รับบทเรียนแล้วว่า หากได้ผู้รับสัมปทานที่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่ใช่มืออาชีพสุดท้ายก็ต้องประสบปัญหาล้มเลิก และมีการฟ้องร้องกันตามมาอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ และเป็นการทำลายทรัพยากร ตรงกันข้ามหากได้มืออาชีพเข้าไปบริหารจัดเก็บรังนก ผู้ประกอบการจะต้องจัดเก็บควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ดูแลให้ปริมาณนกเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนั้นในอีก 7-8 ปีข้างหน้า รังนกอีแอ่นจังหวัดตรังสามารถตั้งราคากลางได้ถึง 100 ล้านบาท