ตรัง – ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นัดประชุมเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากการประมูลรังนกอีแอ่นมา 5 ครั้ง แต่ก็ยังไร้วี่แววของผู้ประกอบการรังนกที่ให้ความสนใจมาประมูล
วันนี้ (7 ม.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายไชยยศ ธงไชย ปลัดจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมหาทางออกในการประมูลรังนกของจังหวัดตรัง ซึ่งได้ทำการประมูลมาแล้ว 5 ครั้งด้วยระบบอีออกชั่น 4 ครั้ง แต่ก็ยังไร้วี่แววของผู้ประกอบการรังนกที่ให้ความสนใจมาประมูล
และเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2553 ได้มีการเปิดรับซองเอกสารประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรังขึ้นอีกทั้ง 2 สัญญา คือ ในเขตท้องที่อำเภอปะเหลียน ด้วยวงเงินประมูล 63 ล้านบาท และในเขตท้องที่อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา 11.2 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบเข้ามายื่นเอกสารจำนวน 2 ราย คือ หจก. ประยงค์ศิลป์การโยธา และ หจก. ซุ่นเฮงก่อสร้าง แต่ทั้ง 2 ราย ยังเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง โดย หจก.ประยงค์ศิลป์การโยธา เสนอ 39 ล้านบาท และ หจก.ซุ่นเฮงก่อสร้าง เสนอ 35 ล้านบาท แต่คณะกรรมการได้ทำการเจรจาต่อรองแล้ว ผู้ประกอบการไม่ตกลง จึงต้องจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรังขึ้น
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ในการประชุมแก้ปัญหารังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหา 2 วิธี คือ เปิดประมูลโดยวิธีพิเศษ โดยใช้ราคากลางเดิม คือ 63 ล้านบาท แล้วเชิญผู้ที่มีอาชีพด้านนี้ โดยตรงมาเสนอราคาที่ต้องการเป็นรายบุคคล แล้วให้คณะกรรมการทำการเจรจาต่อรอง จึงรายงานคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่เหมาะสมต่อไป ส่วนวิธีที่สอง คือ ลดราคากลางลงมาที่ 35 % อยู่ที่ราคา 58.5 ล้านบาท แล้วเปิดทำการยื่นซองประมูลใหม่อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการในที่ประชุมมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่ง นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง มีความเห็นว่า ทางคณะกรรมการน่าจะลดราคาลงมาอยู่ที่ 50 ล้านบาท แล้วเปิดให้ผู้ประกอบการได้เข้ายื่นซองประมูลเป็นรายบุคคล แต่ถ้าใช้วิธีนี้จะต้องเสียเวลาในการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์ไปอีก 20 วัน ซึ่งวันที่ 15 มกราคม 2553 ก็ได้เวลาที่สามารถเก็บรังนกได้แล้ว เกรงว่าถ้าไม่การเข้าไปดำเนินงานอาจจะเกิดปัญหาทำให้มีนกเข้ามาทำรังน้อยลงได้
สำหรับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร และบุคคลในพื้นที่บริเวณที่ทำรังของนกอีแอ่นมีความเห็นเช่นเดียวกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง แต่ นายไชยยศ ธงไชย ปลัดจังหวัดตรัง มีความเห็นว่า การเชิญผู้ประกอบการที่มีอาชีพด้านนี้โดยตรงมาเสนอราคาที่ต้องการ เป็นรายบุคคลจะมีความสะดวกและรวดเร็วกว่า เพราะวิธีนี้จะใช้เวลาในการดำเนินงานเพียง 10 วันเท่านั้น ทำให้ไม่เสียเวลาในการดำเนินงานมากนัก
สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มีความเห็นว่า ควรใช้ทั้ง 2 วิธีมาผนวกกัน โดยตั้งราคากลางที่ 50 ล้านบาท แล้วเชิญผู้ประกอบการมาเสนอราคาเป็นรายบุคคล ซึ่งในการประชุมแก้ปัญหารังนกอีแอ่นในครั้งนี้ จะต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดต่อไป