xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเมืองพัทลุงจับมือนักวิชาการวอนประมงหมั่นกู้อวนแก้วิกฤตโลมาเสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - พ่อเมืองพัทลุงจับมือหน่วยงาน รับทราบแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการและยั่งยืน กู้วิกฤตโลมาเสียชีวิต โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากติดอวนปลาบึกของชาวประมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ร่วมมือกับนายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง-สงขลา และนายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค พร้อมแนวทางในการแก้ไขแบบบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งหลังจากรับทราบปัญหาวิกฤติโลมาเสียชีวิต โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากติดอวนปลาบึกของชาวประมง

นายวินัยกล่าวว่า จากสภาพปัญหาโดยรวมแล้ว สาเหตุหลักมาจากการที่ชาวประมงใช้อวนตาใหญ่เพื่อวางปลาบึก ซึ่งหากโลมาอิรวดีมาติดอวน ต้องใช้เวลาในการกู้ประมาณ 3-4 วัน ทำให้ที่ผ่านมามีโลมาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงสั่งเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ฝากประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงหมั่นไปกู้อวนให้บ่อยขึ้น ซึ่งจะต้องทำงานบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น

นายวินัยกล่าวต่อว่า ตนอาจนำเรื่องโลมาน้ำจืดเสนอต่อสถานทูตต่างๆ เพื่อทำการผสมข้ามสายพันธุ์ เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรได้อีกทางหนึ่ง ที่จะส่งผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงความสำคัญ โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมกันทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง-สงขลา ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 จังหวัดสงขลา และกลุ่มรักษ์โลมาบ้านแหลมหาด ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสิน

ด้าน นายสาโรจน์ อุบลสุวรรณ เจ้าพนักงานประมงชำนาญงานศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า พื้นที่ที่พบโลมาบ่อยมากคือบริเวณแหลมเจ้า หน้าเกาะใหญ่ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสิน จ.สงขลา หรือที่ชาวประมงเรียกว่าลับห้า นอกจากนี้บริเวณลับห้ายังเป็นพื้นที่พิเศษที่ทางศูนย์ฯ ได้วางทุ่นกั้นเป็นอาณาเขตเพื่อเป็นที่อยู่ของโลมาประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร ล่าสุดจากการสำรวจพบทุ่นหายไปแล้วประมาณ 50 ลูก

นายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย พบว่าโลมาแรกคลอดมีความยาว 90 ซม.หนัก 5-6 กก. ตัวกลางวัยมีความยาว 1.5-1.8 ม. หนัก 60 กก. และตัวเต็มวัยมีความยาว 2.4 เมตร หนัก 120 กิโลกรัม อายุขัยเฉลี่ยเท่าๆ กับคนคือประมาณ 50-60 ปี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบโลมาเสียชีวิตร้อยละ 60 จากติดอวนปลาบึก ส่วนอีกร้อยละ 40 ยังไม่ทราบสาเหตุ และโลมาอิรวดีน้ำจืดที่พบมี 5 แห่งในโลก คือ ทะเลสาบซิลิกา ประเทศอินเดีย แม่น้ำมะหะขาม ประเทศอินโดนีเซีย แม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า แม่น้ำโขง ประเทศลาว-กัมพูชา และทะเลสาบสงขลา ทั้ง 5 แห่งมีโลมาอิรวดีประมาณ 1,000 กว่าตัว

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า โลมาอิรวดีบางตัวไม่ค่อยสมบูรณ์ คือลักษณะลำตัวคด ครีบหางแหว่ง ครีบหางคด ทั้งนี้สาเหตุมาจากการสืบพันธ์สายเลือดชิดและการสะสมของโลหะหนัก ซึ่งนายสันติกล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนนี้ทางศูนย์วิจัยฯ จะเดินทางไปประชุมที่จังหวัดภูเก็ต หากเป็นไปได้จะเชิญผู้ชำนาญการชาวญี่ปุ่นนำเครื่องมือแอ็กซาวเดอร์ มาใช้สำรวจโลมาที่พัทลุง

ด้าน นายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง-สงขลา กล่าวว่า จากสภาวะวิกฤติของโลมาดังกล่าว ทางเขตเตรียมจัดตั้งศูนย์แหล่งท่องเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางทางทะเล ทั้งเกาะแก่ง และวิถีวิตของโลมา โดยเตรียมที่จะวางทุ่นประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 10 ตร.กม. เพื่อเป็นจุดชมโลมาของนักท่องเที่ยว และหากเป็นไปได้ตนจะนำโลมามาฝึก เพื่อให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวในโอกาสต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวสามารถชมโลมาอิรวดีได้ในช่วง น้ำลดคือประมาณเดือนเมษายน-ตุลาคมของทุกปี โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. สามารถพบโลมาได้มากที่สุดแทบทุกวัน หรือช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม นอกจากคณะดังกล่าวได้ลงพื้นที่ในทะเลสำรวจโลมาแล้ว ยังเป็นการออกตรวจเพื่อป้องปรามการลักลอบทำประมงที่ผิดกฎหมายอีกด้วย แม้ทั้งวันจะไม่พบโลมาอิรวดีตามที่คาดหวังไว้ก็ตาม แต่ทางคณะไม่ได้ลดความพยามยามโดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะทำการระดมทั้งทางอากาศ ทางทะเล และนักประดาน้ำลงสำรวจอีกครั้ง






กำลังโหลดความคิดเห็น