พัทลุง – จังหวัดพัทลุงเร่งจัดทำแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา หลังจากเกิดวิกฤตโลมาตายบ่อย โดยสาเหตุส่วนใหญ่ มาจากติดอวนปลาบึก หรืออวนดักปลาสวาย ของชาวประมง
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายวัชรินทร์ ทองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง-สงขลา และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา หลังจากเกิดวิกฤตโลมาตายบ่อย โดยเฉพาะเดือนมกราคม ที่ผ่านมามีโลมาตายถึง 5 ตัว ขณะที่การสำรวจพบว่าเหลือโลมาอยู่แค่ฝูงเดียว ประมาณ 10 - 15 ตัว ซึ่งถ้าหากไม่เร่งอนุรักษ์กันอย่างจริงจัง เชื่อว่าในอนาคตโลมาอิรวดีอาจจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลสาบแห่งนี้
นายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการชำนาญการประมง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กล่าวว่า โลมาอิรวดีเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งจากการสำรวจพบว่าโลมาอิรวดีน้ำจืดที่พบมี 5 แห่งในโลก คือ ทะเลสาบซิลิก้า ประเทศอินเดีย แม่น้ำมะหะขาม ประเทศอินโดนีเซีย แม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า แม่น้ำโขง ประเทศลาว-กัมพูชา และทะเลสาบสงขลา ซึ่งทั้ง 5 แห่ง รวมแล้วพบว่ามีโลมาอิรวดีเหลืออยู่ประมาณ 1,000 กว่าตัว
นายสันติ กล่าวอีกว่า โลมาอิรวดี จะตั้งท้องประมาณ 9 เดือน เกิดลูกครั้งละตัว ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า โลมาแรกคลอดจะมีความยาวประมาณ 90 ซม.น้ำหนัก 5 - 6 กิโลกรัม ตัวกลางวัยมีความยาว 1.5 - 1.8 เมตร หนักประมาณ 60 กิโลกรัม และตัวเต็มวัยมีความยาว 2.4 เมตร หนักประมาณ 120 กิโลกรัม อายุเฉลี่ยประมาณ 50 - 60 ปี และจากที่ผ่านมาพบโลมาเสียชีวิตส่วนใหญ่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ มาจากติดอวนปลาบึก หรืออวนดักปลาสวาย ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และจากการสำรวจวิจัยพบว่าโลมาอิรวดีบางตัวไม่ค่อยสมบูรณ์ คือมีลักษณะลำตัวคด ครีบหางแหว่ง หรือ คด ทั้งนี้สาเหตุมาจากการสืบพันธุ์แบบเลือดชิด และการสะสมของโลหะหนัก
นายวัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้สรุปสาเหตุการตายของโลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบส่วนใหญ่ พบว่ามาจากการติดอวนดักปลาบึกและปลาสวายในทะเลสาบ จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานสำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง นัดประชุมชาวประมงที่มีอวนจับปลาบึกในทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีประมาณ 20 - 25 ราย มาร่วมประชุม เพื่อหาข้อสรุป พร้อมกันนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเรื่องประกาศของจังหวัดในประเด็นเครื่องมือทำการประมง โดยเฉพาะอวนจับปลาบึก และให้เร่งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์โลมาอิรวดี