ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกรณี ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา
วันนี้ (11 ม.ค.) คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกรณี ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา ประกอบด้วยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ นายสุรจิต ชิรเวทย์ รองโฆษกคณะกรรมาธิการฯและคณะ
โดยคณะกรรมาธิการฯได้เดินทางมายังบ้านสวนกง หมู่ที่ 7 ตำบลนาทับ เพื่อดูสภาพพื้นที่ของชายหาดที่ยังอยู่สภาพที่ยังสมบูรณ์ เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดสงขลา และพื้นที่ดังกล่าวกำลังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และเพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการกัดเซาะชายหาดจากกรณีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีในพื้นที่ร่องน้ำปากคลองสะกอม
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนประเด็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา จึงได้นำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการวุฒิสภา และได้เชิญผู้ที่มีความรู้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาชี้แจงข้อมูล และในวันนี้ทางคณะลงมาเพื่อรับฟังปัญหาข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลที่ได้จะจัดทำเป็นรายงานการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อไป
จากนั้นทางคณะได้รับฟังข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายชาดจากการสร้างคลื่นกันทรายและกันคลื่น โดยมีตัวแทนชาวบ้านปากบาง หมู่ที่ 4 ต.สะกอมกล่าวว่า หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณร่องน้ำปากคลองสะกอมทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างต่อเนื่อง การสร้างเขื่อนเป็นการแก้ปัญหาโดยกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะเสียประโยชน์ แม้ทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีอ้างว่า การสร้างเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขินชาวประมงไม่สามารถนำเรือเข้าออกได้ในฤดูมรสุม ในความเป็นจริงการสร้างเขื่อนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทางกรมขนส่งทางน้ำฯยังได้ทำการดูดทรายบริเวณร่องน้ำปากคลองทุกปี ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณที่ซ้ำซ้อน
ตัวแทนชาวบ้านบ้านโคกสัก หมู่ที่ 6 ต.สะกอม กล่าวว่าสภาพชายหาดต.สะกอมในอดีตเป็นลักษณะหาด 2 ชั้น แต่หลังการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากน้ำสะกอมทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะ จากเดิมบ้านโคกสักห่างจากทะเล 100 เมตร ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 50 เมตรและมีลักษณะเป็นโคลนตม ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงไปครั้งละ 200 - 300ล้านบาท เป็นการลงทุนแก้ปัญหาแล้วไม่เกิดผล และมูลค่าชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท วิธีที่ดีสุดในเวลานี้คือหยุดการก่อสร้างไว้ก่อนอย่าทำเพิ่ม เพราะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินในการแก้ไขปัญหาแล้วไม่เกิดผล
ตัวแทนชาวบ้านบ่อโชน หมู่ที่ 7 ต.สะกอม ในตำบลสะกอมเริ่มมีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นในปี 2539 แล้วเสร็จในปี2540 หลังการสร้างเขื่อนทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง และทำให้วิถีประมงพื้นบ้านริมชายหาดเปลี่ยนแปลงไปเพราะน้ำลึกขึ้น การที่ชายหาดถูกกัดเซาะทำให้ปลาหลายชนิดไม่สามารถวางไข่บริเวณชายหาด โดยเฉพาะเต่าทะเล การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันไม่ควรทำอะไรเพิ่มเติมในทะเลเป็นดีที่สุด ไม่ว่าพื้นที่ใด อดีตการกัดเซาะชายหาดมีเป็นปกติในช่วงมรสุมพอช่วงฤดูแล้งคลื่นจะแต่งชายหาดให้เหมือนเดิม แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกันทรายชายหาดด้านหนึ่งงอกและอีกด้านหนึ่งหายไปอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญก่อนการก่อสร้างทางกรมขนส่งทางน้ำฯไม่ได้ชี้แจงว่าจะเกิดผลกระทบดังกล่าว
อยากให้กรรมาธิการตรวจสอบรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำแบบนี้ประเทศชาติคุ้มทุนไหม มีชาวบ้านบางส่วนฟ้องกรมขนส่งทางน้ำฯ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง ไม่ใช่แก้ไขปัญหาไปแผ่นดินไทยหายไป มิหนำซ้ำงบประมาณยังสูญเปล่าอีกตระหาก ไม่ใช่การเอาเงินมาถมทะเล ซึ่งกรมขนส่งทางน้ำฯ มีการพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบของแนวกันทรายและกันคลื่นในรูปแบบของเขื่อนใต้น้ำที่อ้างว่าเป็นรูปแบบปะการังเทียมนั้นขอยืนยันว่าการทำรูปแบบเช่นนั้น เป็นอันตรายกับชาวประมงพื้นบ้านเป็นขนาดเล็กอย่างมาก
เพราะเรือประมงสามารถวิ่งชน และไม่สามารถเอาเรือเข้าออกได้ แม้ทางวิศวกรของกรมขนส่งฯจะอ้างว่าต่างประเทศทำได้ ขอยืนยันว่าที่นี่เมืองไทย จะนำรูปแบบมาใช้ไม่ได้เพราะต่างประเทศไม่มีเรือประมงขนาดเล็กแบบบ้านเราต่างประเทศเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่
ทางตัวแทนชาวบ้านสวนกง ให้ข้อมูลต่อทางคณะกรรมาธิการว่า ชายหาดบ้านสวนกงเป็นชายหาดที่ยังอุดมสมบูรณ์ แต่อนาคตน่าเป็นห่วงเพราะกำลังจะมีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่นี่หากเป็นเช่นนั้นจริงชายหาดที่สวนงามคงหมดไป ซึ่งการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกต้องมีการสร้างแนวกันคลื่นถึงจำนวน 15 ตัวตามแบบเพื่อป้องกันแนวกันตัวท่าเทียบเรือไว้ ซึ่งการสร้างแนวกันคลื่นยาวตามแนวชายหาดประมาณ 5 กิโลเมตรยอมส่งผลต่อการกัดเซาะชายหาดอย่างแน่นอนในลักษณะเว้าแหว่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงอย่างแน่นอน