xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายภาคฯสังคม 3 จชต.เรียกร้องรัฐคุ้มครองสิทธิเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - เครือข่ายภาคประชาสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหนังสือเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิเด็กให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตอย่างจริงจังในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปี53 เผยที่ผ่านมามีเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมาก

องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม จำนวน 16 องค์กร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิเพื่อนหญิง ,มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สำนักงานส่งเสริมการวิจัย(ภาคใต้), เครือข่ายวิทยุชุมชน  มอ.ปัตตานี, ศวชต.  มอ.ปัตตานี,สมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี,ศูนย์ฟ้าใส,โครงการชุมชนศรัทธา,เครือข่ายผู้นำเยาวชนจังหวัดชายแดนใต้,ศูนย์ประสานงานเด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดนใต้,กลุ่มซอซิก,กลุ่มเพื่อนหญิงไทยมุสลิม,กลุ่มสตรีสายสัมพันธ์, มูลนิธิฮิลาลอะห์มัรและบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน ได้ทำ หนังสือเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังและร่วมมือกับภาคประชาสังคมรณรงค์คุ้มครองสิทธิเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับความปลอดภัยในชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง

เนื่องจากว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมีเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงต้องเสียชีวิตและพิการจำนวนมาก ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปีพ.ศ. 2553 องค์กรตามรายนามดังกล่าวจึงขอเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการดังนี้

1.ขอให้รัฐมีจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ผู้ปกครอง โรงเรียน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองเด็กในสถานการณ์ฯ อย่างจริงจัง ทั้งจัดสรรงบประมาณและการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการกำหนดออกแบบกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรม โดยมีภาระดังนี้ 1.ให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจแก่เด็กและครอบครัวที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทุกกรณี(หมายถึงทุกกรณีที่มีเด็กได้รับความเสียหาย) อย่างใกล้ชิดและมีการติดตามประเมินผลต่อเนื่องจนกว่าสภาพจิตใจจะเข้าสู่ภาวะปกติ

2.สร้างสรรค์โครงการและกิจกรรมอันจะส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างจริงจัง เช่นจัดกิจกรรมรวมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมสำหรับชุมชน และบุคคลกรทางการศึกษา รวมทั้งกับเด็กในชุมชนและในสถานการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนในภาระหน้าที่เรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็ก 3. ให้รัฐส่งเสริมความรู้ความเข้าใจโดยจัดการอบรมเรื่องสิทธิเด็กให้แก่ผู้นำชุมชน กำลังพลทหาร ตำรวจและพลเรือนทั้งที่ติดอาวุธและชุดมวลชนให้มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก

3.ขอให้รัฐมีการช่วยเหลือเยียวยาแก่เด็ก และเยาวชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทุกกรณีถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่รัฐจะมีการสรุปสาเหตุว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบก็ตาม

4.ขอให้รัฐมีมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและสถานศึกษา เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก โดยทำความเข้าใจในเรื่องของสันติวิธีในสถาบันการศึกษาให้มาก เช่น ลดจำนวนโรงเรียนที่มีค่ายทหารหรือหน่วยกองกำลังติดอาวุธ หรือจำกัดพื้นที่ในการตั้งค่ายฯให้ห่างจากสถานศึกษา เป็นต้น เนื่องจากการที่นำอาวุธหรือพกพาอาวุธเข้าในสถาบันการศึกษาที่รัฐเข้าใจว่าเป็นการป้องกันความปลอดภัยให้กับเด็กนั้น ถ้ามองกลับยิ่งจะทำให้เด็กปลูกฝังและอาจจะเป็นการส่งเสริมถึงความรุนแรงมากกว่า และอาจจะเป็นการสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับเด็กในสถาบันการศึกษา เป็นต้น

5.ขอให้รัฐร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิเด็กได้สำรวจประชากรที่คุณดูแลอยู่นั้นเด็กมีสิทธิครบถ้วนหรือยัง เช่น สูติบัตร การได้รับการศึกษา ที่อยู่อาศัย หรือเครื่องนุ่มห่ม ฯลฯ โดยเฉพาะให้โอกาสกับเด็กในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบได้รับการศึกษาอย่างครบถ้วน
กำลังโหลดความคิดเห็น