xs
xsm
sm
md
lg

ตรังระดมหลายฝ่ายถกแก้ไขปัญหาพะยูน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - สมาคมหยาดฝน ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการอนุรักษ์พะยูนในทะเลตรัง เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งและพะยูน

วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง สมาคมหยาดฝน ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตรัง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการอนุรักษ์พะยูนในทะเลตรัง โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธาน รวมทั้งรับฟังถึงสถานการณ์การสูญเสียพะยูนในทะเลตรัง และร่วมเสวนาถึงเรื่อง ผลกระทบและแนวทางอนุรักษ์พะยูนให้ยั่งยืน

โดยมีผู้ร่วมเสวนา และร่วมปรึกษาหารือหาแนวทางกำหนดเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดจากภาคส่วน เช่น นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน ประธานมูลนิธิหยาดฝน, นางสาวกาญจนา อดุลยานุโกศล จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต, นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน, นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง, ศ,ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ จากคณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานมูลนิธินกเงือก, เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, มูลนิธิอันดามัน, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น โดยมีกลุ่มประมงพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดตรัง เข้าร่วมการประชุมนครั้งนี้

ทั้งนี้ปัจจุบันสัตว์ป่าสงวนหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ก็มิได้ทำให้ลดการสูญเสียลงได้ เช่น ช้างป่า เสือ นกเงือก และพะยูน สำหรับพะยูนนั้นพบทั้งชายฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีประมาณ 200 ตัว แต่พบมากในทะเลที่จังหวัดตรัง เช่น เกาะลิบง และเกาะมุกด์ จำนวน 150 ตัว ส่วนอีก 50 ตัว อาศัยอยู่ในฝั่งอ่าวไทย ในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา พะยูนในทะเลตรังตายไปแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ หากสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ คาดว่าอีก 50 ปี พะยูนจะสูญพันธุ์ไปอย่างถาวร

ซึ่งการประชุมเสวนาในครั้งนี้เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งและพะยูน พร้อมระดมความคิดเห็นถึงแนวทางในการอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งและพะยูน และร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พะยูนจังหวัดตรัง

นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ จะมีการระดมความคิดเรื่องการดูแลรักษาพะยูน และทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง เพราะพะยูนอาศัยอยู่ในทะเลตรังมากที่สุดจำนวน 2 ใน 3 จากที่มีทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นต้องอาศัยพลังจิตสำนึกของภาคประชาคมในพื้นที่ ทั้งโรงเรียน รวมทั้งภาคประชาชน กลุ่มประมงพื้นบ้าน ให้ชุมชนทั้ง 44 หมู่บ้านที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลของตรังระยะทาง 119 กิโลเมตร มีจิตสำนึกรัก หวงแหน ร่วมกันดูแลไม่ให้ใครมาทำลาย

ในส่วนของจังหวัดตนก็พร้อมจะผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พะยูนเป็นการเฉพาะ จะให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเป็นลำดับต้นๆ จะต้องบูรณาการความร่วมมือของส่วนราชการทุกภาคส่วนให้เกิดรูปธรรมในการอนุรักษ์ ให้พะยูนเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดตรังอย่างถาวรสืบไป ส่วนปัญหาที่มีประมงจากต่างถิ่นเข้ามาลักลอบจับพะยูน ได้กำหนดยุทธศาสตร์การป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดด้านทรัพยากรธรรมชาติไว้แล้ว ซึ่งจะต้องเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามอย่างเคร่งครัดนับจากนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น