ไบโอเทคฉลอง 25 ปี จัดเสวนา "จากป่าถึงโต๊ะทำงาน" ดึงนักวิจัยประสบการณ์เชี่ยว "ดร.พิไล พูลสวัสดิ์" เล่าประสบการณ์อนุรักษ์นกเงือกในพื้นที่สีแดง ดึงพรานนักล่านกเงือก-อดีตผู้ก่อการร้าย ร่วมอนุรักษ์ด้วยหลัก "จริงใจ รักษาคำพูด" พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์หฤโหดของลูกทีมทั้งเจอเสือ-ปะช้าง ตกต้นไม้สูง
วันนี้น้อยคนที่จะไม่รู้จัก ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ อาจารย์ผู้ทุ่มเทในการอนุรักษ์นกเงือก จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มากว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งหลายคนคงได้ยินและได้รับรู้การทำงานของเธอ ผ่านสื่อที่หลากหลาย และเธอได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงอีกครั้งในงานเสวนา "จากป่าถึงโต๊ะทำงาน" (From wild to bench) เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่สนับสนุนการวิจัยของเธอ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.52 ณ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ซึ่งเขาฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ในงานเสวนาดังกล่าว ทำให้ทราบว่ากว่าจะไปถึงพื้นที่ศึกษานกเงือกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ไม่สงบในชายแดนใต้ ศ.ดร.พิไลและลูกทีมต้องเผชิญอุปสรรคนานา ทั้งช้างไล่ บางครั้งเจอเสือ หลายคนเจอทาก เห็บ ตะขาบ และสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเชื้อมาลาเรีย และการเข้าถึงพื้นที่สำรวจบางครั้งก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งเจ้าตัวก็พูดอย่างยอมรับว่าทำเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้บางครั้งลูกทีมยังตกจากต้นไม้ขณะขึ้นไปสำรวจโพลงรัง หรือบางครั้งแทนที่จะพบนกเงือกกับพบงูจงอางหรือตัวต่อแทน
นกเงือกจะอาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้สูง ซึ่งเกิดจากการทำลายเยื่อไม้ของรา บางครั้งต้นไม้ที่นกเงือกอาศัยอยู่สูงถึง 50-60 เมตรก็มี แต่โดยเฉลี่ยแล้วนกเงือกจะทำรังอยู่ในโพรงสูงประมาณ 20 เมตร หรือราวๆ ตึก 6 ชั้น แต่ถ้า "จนตรอก" จริงๆ บางครั้งก็เห็นนกเงือกอาศัยอยู่ในโพลงเตี้ยๆ ต่ำดินพื้นก็มี ซึ่งการขาดแคลนโพลงรังเป็นหนึ่งในปัจจัยคุกคามนกเงือก ทั้งนี้สาเหตุของการขาดแคลนก็มีหลากหลาย อาทิ การแก่งเย่งกันเอง หรือสัตว์อื่นอย่าง "กระรอกบิน" หรือ "ตัวตะกวด" เข้าไปแย่งโพลงรัง เป็นต้น นอกจากนี้ปัญหาต้นรังโค่นล้ม พื้นโพลงรังทรุดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทีมวิจัยก็ได้ช่วยกันพื้นฟูสภาพโพลงรังเพื่อให้เป็นที่อาศัยของนกเงือก
ศ.ดร.พิไลได้ยกย่องให้นกเงือกเป็น "ชาวไร่ที่ดี" เนื่องจากเป็นนกที่ช่วยกระจายพันธุ์พืชได้หลากหลายและกว้างไกล และมีประสิทธิภาพในการกระจายเมล็ดสูง ทั้งนี้ด้วยลักษณะปากที่ใหญ่ทำให้คาบผลไม้ได้หลากหลายชนิดตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาด 60 เซนติเมตร และมีวิธีกินอย่างพิถีพิถัน โดยผลไม้ที่อยู่ในปากนกเงือกที่นำไปป้อนลูกยังคงสมบูรณ์ แล้วเมื่อกินผลไม้แล้วจะขย้อนเมล็ดออก ที่โคนต้นไม้ใต้โพลงรังของนกเงือกมีต้นกล้าซึ่งเกิดจากเมล็ดพันธุ์ผลไม้ที่นกเงือกกินอยู่หลายชนิด เมื่อทีมวิจัยแยกไปเพาะก็เจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งนกเงือกยังพาเมล็ดพันธุ์ไปไกลจากต้นแม่ ซึ่งดีต่อการกระจายพันธุ์พืชในป่า
"เมื่อเปรียบเทียบกับนกชนิดอื่นแล้ว นกเงือกตัวหนึ่งสามารถกระจายพันธุ์พืชบางชนิดได้มากกว่านกชนิดอื่นๆ ถึงเท่าตัว เช่น พืชบางชนิดอาศัยนกพิราบใหญ่ 1,000 ตัวช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ 2,000 เมล็ด แต่ในจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่เท่ากันใช้นกเงือกเพียง 500 ตัว และพืชบางชนิดก็อาศัยการกระจายพันธุ์จากนกเงือกเพียงชนิดเดียว อย่างต้น "ตาเสือ" เป็นต้น ดังนั้นหากนกเงือกหายไป พันธุ์ไม้หลายชนิดก็จะหายไปด้วย" ศ.ดร.พิไลให้ข้อมูล
ช่วงแรกๆ ที่ ศ.ดร.พิไลเดินทางลงไปยังพื้นที่อนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาบูโด จ.นราธิวาส นกเงือกแทบจะหายไปจากพื้นที่ แม้ว่าในพื้นที่จะมีความไม่สงบและโจรใต้ชุกชุมก็ตาม แต่เธอก็รู้สึกขอบคุณและกล่าวอย่างติดตลกว่าเราควรจะมอบรางวัลยกย่องให้กับ "โจรพูโล" เพราะหากไม่มีผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ นกเงือกอาจจะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ป่าแล้วก็ได้ เนื่องจากการล่าอย่างจริงจัง แต่เธอก็พกพาเอาความมุ่งมั่นลงไปเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่ให้หันมาร่วมกันอนุรักษ์นกเงือก
ทุกวันนี้คนในพื้นที่ซึ่งร่วมทำงานกับเธอ บางคนเคยเป็นผู้ก่อความไม่สงบมาก่อน บางคนเคยเป็นอดีตพรานล่านกเงือก ซึ่งการล่านกเงือกแต่ละครั้งได้ค่าหัวต่ำๆ ประมาณ 10,000 บาท ซึ่งมากทีเดียวสำหรับชาวบ้านที่รายได้เดือนละ 1,500 บาท แต่ทุกวันนี้หมู่บ้านที่เคยเป็นแหล่งล่านักเงือกผลิกกลับเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์นกเงือก ชาวบ้านรวมตัวกันสอดส่อง เมื่อพบเห็นนกเงือกทำรังที่ไหนก็แจ้งแก่เธอทันที ล่าสุดพบนกเงือกไปทำรังในสวนทุเรียนของชาวบ้าน หรือใครที่มีพฤติกรรมล่านกเงือกก็จะถูกชาวบ้านด้วยกันรุมประนาม
อะไรทำให้เธอประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์นกเงือกและเธอจูงใจชาวบ้านที่เคยเป็นนักล่าให้หันมาเป็นนักอนุรักษ์ได้อย่างไร? เป็นคำถามไปยัง ศ.ดร.พิไล ซึ่งเธอตอบว่ามีหลักสั้นๆ คือ "จริงใจและรักษาคำพูด" และไม่ได้หวังอะไร ไม่ได้เอาอะไรจากในพื้นที่มา นอกจากต้องการให้เกิดการอนุรักษ์เพื่อลูกหลานของคนในพื้นที่เองยังคงได้เห็นนกเงือกโบยบินต่อไป เธอลงไปขอความร่วมมือกับชาวบ้านตรงๆ และบอกว่าหากไม่ได้รับความร่วมมือเธอก็กลับมาทำงานนั่งโต๊ะสบายๆ ได้โดยไม่เดือดร้อน ขณะที่ชาวบ้านเองอาจถูกลูกหลานขุดกระดูกขึ้นมาสาปแช่งที่ไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้