xs
xsm
sm
md
lg

รมช.คมนาคมลงตรวจท่าเทียบเรือภูเก็ตสร้างเขื่อนกันคลื่น-ทุ่มงบพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 134 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ภูเก็ตตรวจท่าเทียบเรือ ระบุ เตรียมงบประมาณ 134 ล้านบาท พัฒนาท่าเรือน้ำลึก รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค พร้อมติดตามโครงการวางทุ่นเพื่อป้องกันคลื่นที่ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ภูเก็ต

วันนี้ (26 พ.ย.) นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี พร้อมคณะ เดินทางตรวจราชการจังหวัดภูเก็ต โดยออกตรวจดูท่าเทียบเรือสำราญกีฬา ความเหมาะสมของการวางทุ่นป้องกันคลื่นที่บริเวณอ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง หลังจากนั้น คณะออกตรวจท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง พร้อมฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการท่าเรือ ต่อจากนั้น คณะได้เดินทางไปยังท่าเทียบเรือสำราญกีฬา ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นายเกื้อกูล กล่าวว่า ทางคณะผู้บริหารเดินทางมาตรวจท่าเรือมารีน่า อ่าวปอ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ท่าเรือฉลอง เพื่อรับทราบปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ตรงไหนที่กระทรวงมาร่วมพัฒนาเพิ่มศักยภาพซึ่ง ในส่วนของท่าเทียบเรือสำราญอ่าวปอนั้น มีการศึกษาความเหมาะสมของการวางทุ่นเป็นแนวกันคลื่นลมในช่วงหน้ามรสุม พร้อมทั้งดูแลพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ที่ควบคู่กับผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากท่าเทียบเรือสำราญอ่าว มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้บริการ รวมทั้งสร้างความไม่สะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งอันดามัน

นอกจากนี้ ยังเดินทางตรวจสภาพความพร้อมของท่าเทียบเรืออ่าวปอ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง และท่าเทียบเรือน้ำลึก เพื่อสร้างมาตรฐานความพร้อมและความปลอดภัย ในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า คมนาคมทางน้ำในพื้นที่อันดามัน

ด้าน นายชลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ทุ่นที่สร้างสำหรับเป็นแพกันคลื่นนั้นภาคเอกชนได้ลงทุน เพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงหน้ามรสุม ป้องกันความเสียหายท่าเทียบเรือมารีน่า โดยทางกรมเจ้าท่าจะตรวจสอบอย่างละเอียดว่าทุ่นที่วางเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำหรือไม่ รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบหรือเปล่า

ในเบื้องต้นได้พิจารณาให้ท่าเทียบเรือสำราญอ่าวปอมารีน่า ใช้ทุ่นชั่วคราวในระยะ 6 เดือน ช่วงหน้ามรสุมคลื่นลมแรง ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป

ส่วนท่าเทียบเรือโดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตนั้น นายเกื้อกูล กล่าวว่า บริษัทสามารถบริหารได้ และท่าเรือน้ำลึกนั้นเป็นทั้งท่าท่าเรือขนส่งสินค้า และท่าเรือรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงท่าเรือประมงด้วย เชื่อว่า มีศักยภาพสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ท่าเรือดังกล่าวมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เช่น สัญญาเช่าที่มีกับกรมธนารักษ์ก็ต้องเช่าต่อไป นอกจากนี้ได้มีการกำชับให้ดูแลสภาพแวดล้อมและการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายเกื้อกูล กล่าวอีกว่า ในส่วนของแผนพัฒนาท่าเรือนั้น ขณะนี้ บริษัทเจ้าพระยาที่เช่าอยู่ก็ได้มีแผนพัฒนาอยู่แล้ว และจะมีการพิจารณาแผนพัฒนาร่วมกัน ส่วนสัญญาใหม่ที่จะหมดก็ขึ้นอยู่กับกรมธนารักษ์ที่จะคุยกับบริษัทต่อไป ทั้งนี้ในส่วนแผนของกรมฯ ได้มีแบบขยายท่าเรือ เพื่อรองรับเรือขนาด 9,000-20,000 เดทเวทตัน สามารถจอดเทียบท่าขนสินค้าได้สะดวก

โดยจะมีงบประมาณเตรียมไว้ประมาณ 134 ล้านบาทเศษ แยกเป็นงบปี 2554 26 ล้านบาทเศษ และปี 2555 107 ล้านบาทเศษ ในการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการรองรับการพัฒนารองรับการเปิดการค้าเสรีโลกด้วย

ขณะที่ นายชลอ กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อต้องใช้ขนส่งสินค้าทางทะเลของภาคใต้ตอนบน เพื่อขนส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา ซึ่งเป็นการศึกษาไว้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา แต่จากการดำเนินการ ปรากฏว่า ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เดิมจะใช้เป็นเพียงขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ต้องปรับเป็นเพื่อขนส่งนักท่องเที่ยวด้วย เพื่อต้องการให้ท่าเรือบริหารจัดการได้ ต้องทำเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ ซึ่งถือว่าผิดเป้าไปเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารของบริษัทที่ผ่านมาก็พออยู่ได้

แต่ทั้งนี้ ในอนาคต สัญญาที่จะกำลังพิจารณาใหม่นั้น ทางกรมธนารักษ์ต้องให้สัญญาที่ยาวขึ้นจากเดิม 2-3 ปี ต้องเป็นระยะ 5-10 ปี อย่างเช่น ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ให้สัมปทาน 30 ปี เขาจะได้วางแผนติดตั้งเครื่องไม้ เครื่องมือได้ดีกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น