xs
xsm
sm
md
lg

โชวห่วยภูเก็ตเร่งรัฐออกกฎหมายค้าปลีก หลังโมเดิร์นเทรดขยายสาขากระทบหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต- ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกและค้าส่งในภูเก็ต เร่งให้รัฐบาลออกกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง เพื่อวางกฎกติกาไม่ให้โมเดิร์นเทรดข้ามชาติรุกคืบเข้ามาในภูเก็ตและจังหวัดอื่นๆ เผย ขณะนี้มีการขยายสาขาไปทั่วทุกมุมเมือง

วันนี้ (30 ต.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “พ.ร.บ.ค้าปลีก : กติกาการอยู่ร่วมกันในยุคทุนไร้พรมแดน” ซึ่งมีผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งในภูเก็ตเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีวิทยารวมอภิปราย ประกอบด้วย นายธนพล ตังคณานนท์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นายสมชาย พรรัตน์เจริญ นายกสมาคมการค้าส่งและปลีกไทย นายณัฐพงษ์ พุฒแก้ว อัยการจังหวัด ศคช.จังหวัดภูเก็ต และ นายชวนะ เกียรติชวนะเสรี รองประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ร่วมอภิปรายถึง พ.ร.บ.ค้าปลีก : กติกาการอยู่ร่วมกันในยุคทุนไร้พรมแดน โดยมี ดร.ชยงการ ภมรมาศ รองคณบดีคณะบริการธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียงถึงร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง ที่มีผลกกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวของหลายฝ่าย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบด้านในภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 9 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้ว 6 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ อุบลราชธานี ชลบุรี พิษณุโลก ชัยนาท และ อุดรธานี และเมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครบทั้ง 9 ครั้งแล้ว จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศตามมติ ครม. จำนวน 9 ครั้ง ซึ่งในส่วนของภูเก็ต เป็นครั้งที่ 7 ส่วนที่เหลืออีก 2 ครั้งที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ กับ จ.สงขลา ในวันที่ 5 พ.ย.นี้

จากนั้นก็จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและประชุมร่วมกับสมาคมผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ย.นี้เช่นกัน จากนั้นก็จะสรุปรายงานให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 พ.ย.นี้ หากให้ความเห็นชอบก็จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ส่วนว่าจะสามารถประกาศใช้ได้เมื่อใดนั้นยังไม่สามารถตอบได้ เพราะจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวก่อน

“การรับฟังความเห็นในช่วง 6 ครั้งที่ผ่านมา ประชาชนให้ความสนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสมาคมค้าปลีกค้าส่ง สมาคมผู้บริโภคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งประเด็นสำคัญที่มีการกล่าวถึงจะเป็นเรื่องของทุนจดทะเบียน สถานที่ในการจัดตั้ง ระยะเวลาในการเปิดปิด การตั้งกองทุนพัฒนาร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงประเภทของร้านค้าที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน” นายวีระศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปราย “พ.ร.บ.ค้าปลีก:กติกาการอยู่ร่วมกันในยุคทุนไร้พรมแดน” นายสมชาย พรรัตรนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากการที่โมเดิร์นเทรดข้ามชาติ 4-5 ราย เข้ามาขยายสาขาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ทำให้คนไทยหันไปนิยมซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้า มากกว่าที่จะเลือกซื้อสินค้าจากร้านโชวห่วยเดิมที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้ยอดขายของโชวห่วลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆมีกลยุทธ์ในการชักจูงให้ลูกค้าซื้อสินค้าในรูปแบบต่างๆ ที่โชวห่วยไม่สามารถแข่งขันได้ และค้าปลีกรายเล็กปรับตัวไม่ทันกับกลยุทธ์ของค้าปลีกรายใหญ่ข้ามชาติ เมื่อค้าปลีกรายเล็กปรับตัวไม่ทันก็จะถูกรายใหญ่กลื่น ทำให้ประเทศสูญเสียอำนาจการค้า สังคม และอุตสาหกรรม

การที่จะทำให้ค้าปลีกรายเล็กอยู่ได้รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดระเบียบ และกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้นมา และจนถึงวันนี้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ค้าปลีกรายใหญ่ขยายสาขาไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเกินความพอดีเสียด้วยซ้ำ คนไทยก็เป็นได้เพียงผู้ซื้อที่ดีเท่านั้น ซึ่งต่อไปก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอาชีพโชวห่วยของไทยจะไปทำอาชีพอะไรดี กระทรวงพาณิชย์จะต้องกำหนดกฎหมายมาบังคับใช้โดยด่วนและเด็ดขาด หากรอนานกว่านี้คนที่จะได้รับผลกระทบคือคนในชุมชนทั้งหมด

นายธนพล ตังคณานันท์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโมเดิร์นเทรดนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อมีผู้ค้ารายใหม่ขึ้นมาก็ทำให้เกิดการแข่งขันผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และผู้ค้าปลีกรายย่อยเองก็ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้เช่นกัน

ด้านนายชวนะ เกียรติชวนะเสรี รองประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ก่อนที่ค้าปลีกรายใหญ่ข้ามชาติจะเข้ามาในภูเก็ตนั้น กลไกลตลาดของภูเก็ตมีเงินหมุนเวียนอยู่ในภูเก็ต แต่เมื่อค้าปลีกรายใหญ่เข้ามา ทำให้ร้านค้าปลีกในภูเก็ตได้รับผลกระทบ ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งกำหนดกฎกติกาขึ้นมาควบคุมค้าปลีกรายใหญ่ เพราะหากปล่อยให้แข่งขันกันเต็มที่ เชื่อว่า ค้าปลีกรายเล็กจะต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน

นายชวนะ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้ต่อต้านค้าปลีกรายใหญ่และห้างสรรพสินค้า แต่การเข้ามาของค้าปลีกรายใหญ่จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ร้านเล็กต้องอยู่ได้ด้วย แต่ขณะนี้ค้าปลีกรายใหญ่ได้ขยายสาขาไปยังชุมชนต่างๆทั่วทั้งเกาะภูเก็ตแล้ว จากที่ภาครัฐไม่ได้กำหนดกฎกติกาขึ้นมาควบคุม ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าฯภูเก็ตเคยมีการขอร้องไปยังค้าปลีกรายใหญ่ให้หยุดขยายสาขาไปยังชุมชนต่างๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะนี้มีสาขาของค้าปลีกรายใหญ่เต็มไปหมด มีการเรียกร้องให้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่ภูเก็ตเพื่อทำรายได้ที่เกิดขึ้นมาดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขณะที่กำลังจะล้นเมืองอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าค้าปลีกรายใหญ่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขยะที่เป็นถุงพลาสติกให้กับเกาะภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม กฎหมายค้าปลีกค้าส่งที่จะกำลังจัดทำร่างอยู่นั้น คงจะไม่มีผลอะไรมากกับภูเก็ตเพราะขณะนี้มีห้างเต็มไปหมดแล้ว แต่จะเป็นประโยชน์กับจังหวัดอื่นๆที่ยังไม่มีการขยายสาขาที่มากนัก

ด้านนายอรรถพร ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้จัดการฝ่ายจัดส่งสินค้า ห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ซีป ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าของคนท้องถิ่นในภูเก็ต กล่าวว่า ทุกวันนี้ค้าปลีกรายใหญ่และรายเล็กในภูเก็ตได้รับผลกระทบ จากการขยายสาขาของโมเดิร์นเทรดไปทั่วทั้งเกาะภูเก็ตแล้ว กฎหมายที่กำลังจะออกว่าคิดว่าคงจะไม่ทันที่จะบังคับใช้ที่ภูเก็ตแล้ว ณ วินาทีนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นต้องการ คือ ให้โมเดิร์นเทรดหยุดขยายสาขาไปตามชมุชนต่างๆ และกฎหมายที่จะออกมานั้นโดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยแต่จะต้องควบคุมร้านที่ขายสินค้าตั้งแต่ 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ว่า รัฐบาลจะต้องเร่งออกกฎหมายและกติกามากำหนดค้าปลีกโดยด่วน เพราะหากปล่อยไว้เชื่อว่าค้าปลีกรายเล็กจะต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน จากที่ลูกค้าไปเลือกซื้อสินค้าจากโมเดิร์นเทรดแทนที่จะซื้อสินค้าตามร้านโชวห่วยทั่วไป

ขณะที่นายแพทย์ ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับทราบเบื้องต้นพบว่ายังมีบางประเด็นที่ไม่มีการระบุไว้ในกฎหมายดังกล่าว เช่น กรณีห้างค้าปลีกใช้วิธีการกดต้นทุนให้ต่ำลง โดยคนป้อนสินค้าให้กับทางห้างเป็นผู้รับการขาดทุนแทน เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าค้าปลีกขนาดใหญ่ของต่างชาติ มียอดการขายในประเทศไทยสูงที่สุดในโลกยกเว้นในประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงว่าประเทศอื่นๆ มีระบบการควบคุมที่ดีกว่าประเทศไทย เนื่องจากระบบการควบคุมของเราอ่อนแอ ซึ่งเป็นโจทย์ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องไปทำการบ้านว่าจะทำอย่างไร และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย รวมทั้งรายละเอียดของข้อกฎหมายที่ออกมานั้นสามารถทำให้ผู้ค้ารายย่อยอยู่ได้จริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่ต้องการคือ ให้ผู้ค้ารายย่อยอยู่ได้ แม้จะเป็นธุรกิจเสรี แต่จะต้องช่วยเหลือผู้ที่มีขีดความสามารถต่ำกว่าโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยซึ่งสำคัญมาก

ส่วนกรณีของห้างสรรพสินค้าที่เปิดมาแล้วไม่สามารถที่จะสั่งปิดได้ แต่มีวิธีการที่สามารถอยู่ร่วมกันและเกิดความยุติธรรม เช่น กำหนดการเก็บภาษีการสร้างมลพิษ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของขยะ น้ำเสีย การจราจร เพื่อเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับทางห้างฯ และเขาก็ไม่สามารถที่จะเพิ่มราคาได้ เนื่องจากจะทำให้ไม่สามารถขายได้ ดังนั้น สิ่งที่เขาต้องทำ คือ การคืนต้นทุนที่แท้จริงให้เกิดขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น