xs
xsm
sm
md
lg

โชวห่วยอีสานรุมยำร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกไม่เอื้อร้านค้าย่อยชาวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนร้านค้าปลีกรายย่อยในภาคอีสานสนใจเข้าร่วมงานสัมมนาเปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก...หนาตา
อุดรธานี - กรมค้าภายในเปิดเวทีรับฟังความเห็น พ.ร.บ.ค้าปลีกฯตัวแทนร้านค้าย่อยท้องถิ่นยันรวมกลุ่มต้านห้างยักษ์ต่างชาติเพื่อปกป้องสิทธิทำกินของคนไทย เผยไม่เชื่อกฎหมายค้าปลีกช่วยเหลือโชวห่วยได้ สาระในร่างฯหนุนทุนใหญ่มากกว่าช่วยค้าปลีกย่อยไทย ย้ำต้องปรับเนื้อหาใหม่ระบุมาตรการจำกัดการเปิดสาขาห้างยักษ์ทุนข้ามชาติให้ชัด ห้ามรุกชิงตลาดพื้นที่ต่างอำเภอ

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ พ.ร.บ.ค้าปลีก กติกาการอยู่ร่วมกันในยุคทุนไร้พรมแดน โดยมีนายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมีตัวแทนร้านค้าโชห่วย ค้าปลีก ค้าส่งและผู้ประกอบการอิสระในภาคอีสานตอนบนเข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก

นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยในปี 2551 มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ ประมาณ 6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของการจ้างงานทั้งประเทศ 36 ล้านคน รวมทั้งเป็นแหล่งระบายสินค่าอุปโภคบริโภคสินค้าเกษตร ก่อให้เกิดการผลิต การกระจายรายได้

นโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงพยายามส่งเสริมให้ธุรกิจมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกาที่ทัดเทียมกัน ให้การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้มีความเข้มแข็งและดำรงอยู่ในระบบการค้าได้ โดยผลักดันให้มีกฎหมายค้าปลีก ค้าส่ง เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างและจัดระเบียบธุรกิจการค้าปลีกค้าส่งให้มีความสมดุล และเป็นระบบให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง รายกลาง และรายเล็ก สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบกับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านในทุกภูมิภาค สำหรับการสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ที่กระทรวงพาณิชย์มารับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปประกอบจัดทำร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง ที่เชื่อว่าสามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาระบบค้าปลีกค้าส่งได้อย่างแท้จริง

ด้านนายมนัส พลน้ำเที่ยง ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยท้องถิ่น ใน จ.อุดรธานี กล่าวถึงการรวมตัวของผู้ประกอบค้ารายย่อยเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่นั้นเพราะต้องการปกป้องสิทธิการทำมาหากินบนแผ่นดิน ขอพื้นที่ได้ประกอบอาชีพได้บ้าง นี่คือจุดยืนของร้านค้าปลีกรายย่อย ส่วนตัว พ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งฉบับนี้ตนไม่เชือว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ แม้แต่ตอนนี้ประกาศของกรมโยธาธิการก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือร้านค้าย่อยท้องถิ่นได้ และอยากถามย้ำว่าโดยเจตนาแล้ว พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งที่จะออกมาในอนาคตจะช่วยห้างใหญ่หรือร้านค้าย่อยกันแน่

นายวีระพงษ์ ไชยเอีย รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี แสดงความเห็นว่า พ.ร.บ.ค้าปลีกฯฉบับที่จะออกมาจะสามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับค้าปลีกย่อยท้องถิ่นได้หรือไม่ เบื้องต้นตนมองว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคงไม่เกิดประโยชน์ เพราะปัญหาที่เราต้องการแก้ไขให้เร็วที่สุดคือจะทำอย่างไรไม่ให้ห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ตั้งอยู่ตามอำเภอต่างๆ ได้

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวย้ำว่าเนื้อหาของกฏหมายค้าปลีกค้าส่งจะต้องตอบสนองโจทย์ ที่บอกว่าจะช่วยร้านค้าปลีกขนาดเล็กขนาดย่อมให้ได้ แต่ดูจากร่างฯแล้วไม่ได้มีมาตรการใดที่จะช่วยเหลือได้ มีเพียงแต่ระบุว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อส่งเสริมร้านค้าปลีก ในร่างฯจะต้องบอกให้ชัดว่าจะหยุดการขยายตัวของโมเดิร์นเทรดได้อย่างไร และต้องหาข้อเท็จจริงว่าโมเดิร์นเทรดมีผลกระทบกับร้านค้าปลีกรายย่อยมากน้อยแค่ไหน

เนื่องจากมีผลสำรวจว่าร้านค้าปลีกในท้องถิ่นต่างๆได้ปิดกิจการกันไปแล้วมากมาย เพราะทนภาวะขาดทุนจากการรุกขยายสาขาของห้างใหญ่ๆไม่ได้ ตนได้เสนอให้ทางสภาวิจัยแห่งชาติทำการสำรวจถึงผลกระทบที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการออกกฎหมาย เฉพาะหน้านี้รัฐบาลต้องกำหนดลงไปให้ชัดเจนในเรื่องมาตรการในการส่งเสริมร้านค้าปลีกขนาดกลางขนาดย่อมไทย โดยไม่จำเป็นต้องรอกฎหมายฉบับนี้

“อยากเสนอให้ร้านค้าปลีกขนาดกลางขนาดย่อมของไทยสามารถขอคืนภาษีซื้อได้ เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการโดยที่ไม่ต้องรอกฎหมายออกมา ซึ่งในเนื้อหาของตัวกฎหมายนั้นมีความสำคัญมากว่าออกมาแล้วจะช่วยค้าปลีกรายย่อยไทยได้มากน้อยแค่ไหน มีมาตรการจัดการปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไร”

ขณะที่นายสุรพงษ์ วงศ์อารี ผู้ค้ารายย่อยในอำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี ระบุกรณีที่ มีผู้อ้างถึงผลดีของเรื่องค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่หรือข้ามชาติว่าช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยชาวไทยได้ขายสินค้าจำนวนมากนั้นยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นความจริง แต่ในทางกลับกันหากรวมมูลค่าการซื้อของร้านค้าย่อยที่มีอยู่ทั้งจังหวัดอุดรธานีมาเปรียบกับร้านค้ารายใหญ่ เชื่อว่าตัวเลขก็ไม่น่าน้อยกว่ากันผิดจากกันแค่การซื้อที่ไม่เป็นระบบ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราไม่สามารถสกัดกั้นห้างต่างชาติเหล่านี้ได้ เพราะมีนักการเมืองได้ไปทำสัญญาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แนวทางแก้ไขที่พยายามแก้ปัญหาตามหลักการและเหตุผลที่แสดงในร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งนี้มีแต่ตัวหลักการ แต่เนื้อหาสาระไม่สามารถที่จะแก้ไขให้ร้านค้ารายย่อยชาวไทยอยู่ได้ มีแต่เข้าข้างกลุ่มนายทุนทั้งนั้น และที่เห็นเป็นรูปธรรมก็แค่มีคณะกรรมเพิ่มเข้ามาเท่านั้นเอง นอกจากนั้นไม่มีประโยชน์

ดังนั้น พ.ร..บ. ตัวนี้จะต้องทำการแก้ไขปรับปรุงใหม่ อย่างน้อยต้องระบุให้ชัดว่า ชุมชนใดที่เป็นชุมชนใหญ่ในเขตเทศบาลเมืองก็ให้ห้างใหญ่ๆตั้งได้ แต่มีข้อจำกัดไม่ให้ออกไปตั้งสาขาในเขตชนบทตามอำเภอต่างๆ ต้องเหลือพื้นที่ให้ร้านค้าย่อยคนไทยได้ยืนบ้าง

นายวรัญชัย โชคชนะ ตัวแทนผู้ค้าปลีกค้าส่งรายย่อย กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วง ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเข้าสภาทันในสมัยนี้หรือไม่ ซึ่งในฐานะเจ้าของร้านค้าปลีกรายย่อยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล หลายประเด็นเพื่อช่วยเหลือร้านค้าปลีกค้าส่งรายย่อย คือ 1.ร้านค้าต่างชาติจะสามารถหยุดการขยายตัวได้หรือไม่ในขณะที่กำลังรอการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง 2 เราจะสามารถเพิ่มภาษีห้างใหญ่ทุนต่างชาติได้หรือไม่ 3. หากห้างขนาดใหญ่จะก่อสร้างให้อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง

4.ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายค้าปลีกฯรัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือค้าปลีกย่อยไทยที่ชัดเจนและเด็ดขาด 5.รัฐบาลควรจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าของคนไทย ซึ่งหากว่าปล่อยให้ค้าปลีกทุนใหญ่จากต่างชาติเปิดสาขาได้ตามใจชอบอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และคนไทยเห่อความทันสมัยแห่เข้าไปใช้บริการ เชื่อว่า อีกไม่นานประเทศไทยล่มจมอย่างประเทศ อาเจนตินา

นายมนัส พลคำเที่ยง ตัวแทนผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยท้องถิ่น ใน จ.อุดรธานี
นายสุรพงษ์  วงศ์อารี  ผู้ค้ารายย่อยในอำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น