ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน
แม้ทุกฝ่ายจะพยายามผลักดันให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งกำลังถูกเพิ่มบทบาทให้ช่วยคลี่คลายปัญหาไฟใต้ ทว่าเมกกะโปรเจกติดตั้ง CCTV เพื่อความมั่นคงในชายแดนใต้มูลค่าเกือบ 1 พันล้านของภาครัฐ ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทยที่ดำเนินมาแล้ว 5 ปี กลับยังแทบไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2547 ที่วิกฤตไฟใต้คุโชนระลอกใหม่ ความตื่นตัวในการนำ CCTV มาใช้ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการภาคเอกชน หรือแม้แต่ของตำรวจที่มุ่งเน้นงานจราจรก็เป็นไปอย่างคึกคัก ทว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูที่มีมาต่อเนื่อง แม้ในเวลานี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติคือ ยังเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีการร้อยเชื่อมระบบให้เป็นเครือข่ายเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ใช่ว่าจะไม่มีหน่วยงานไหนในชายแดนใต้ที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างประสบผลสำเร็จ “เทศบาลนครยะลา” ที่ริเริ่มโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อความมั่นคงด้วยตัวเองต่อเนื่องมา ณ วันนี้เป็นที่รับรู้อย่างยอมรับของพี่น้องประชาชนว่า สามารถดำเนินโครงการมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนอาจถือเป็นต้นแบบของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในชายแดนใต้
เทศบาลนครยะลาเริ่มโครงการติดตั้ง CCTV ในพื้นที่ด้วยเม็ดเงินภาษีก้อนแรก 24 ล้านบาท แม้ไม่ใช่ภารกิจหลักโดยตรง แต่ต้องทำเพื่อให้ประชาชนได้เกิดความอุ่นใจ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาทุกปี จนกระทั่งปัจจุบันมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแล้ว 310 ตัว โดยใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ เปิดเผย “ASTVผู้จัดการ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่” ว่า จากเหตุที่พื้นที่ในเขตเทศบาลนครยะลาต้องเผชิญกับการซุ่มโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง และได้ศึกษาระบบ CCTV ของทั้งในและในต่างประเทศ ก่อนที่จะได้ต้นแบบจากประเทศออสเตรเลียมาปรับใช้
CCTV ชุดแรกที่นครยะลาติดตั้งในปี 2548 มีจำนวน 95 ตัว โดยเน้นคุณสมบัติที่แตกต่างจากการใช้เพื่อการรักษาความปลอดภัยทั่วไป คือต้องเป็นกล้องที่มีความละเอียดของภาพสูงมาก สามารถจับภาพได้แม้เวลากลางคืนในแสงสว่างเท่ากับ 2 แรงเทียน โดยว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่มาตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและคุ้มค่ากับเม็ดเงินภาษีที่ได้จากประชาชนในท้องถิ่น
แม้การใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาความปลอดภัยในสถานการณ์ไฟใต้จะเป็นเรื่องใหม่ในพื้นที่ แต่สิ่งที่ยากและซับซ้อนกว่านั้นคือ การหาผู้ร่วมงานที่มีความจริงใจ เพราะความทุกข์ร้อนของประชาชนบนกองปัญหาไฟใต้กลับกลายเป็นเรื่องหอมหวนของบริษัทผู้ให้บริการและจัดจำหน่าย CCTV มาอย่างต่อเนื่อง
“ต้องยอมรับว่าท่ามกลางไฟใต้มีบริษัทขายระบบ CCTV เข้ามาแข่งขันกันจำนวนมาก การพิจารณาของเราไม่ใช่แค่จะมีสินค้าและบริการที่ดีเท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งคือต้องเข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อคนในพื้นที่ด้วย เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดหรือติดตั้งแล้วปล่อยให้กล้องเสีย นั่นหมายถึงความเป็นความตายของประชาชน ซึ่งเทศบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วย ก่อนจะทำงานร่วมกันได้จึงต้องทดลองให้ผู้ขายระบบมานอนในเมืองยะลาดูก่อน เพื่อให้เขามีความรู้สึกร่วม และเมื่อรับงานแล้วกล้าที่จะลงพื้นที่มาทำงาน ไม่ใช่งานเฉพาะกิจที่มาขายของเพียงอย่างเดียวแล้วไม่ดูแลอีกเลย”
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า นครยะลาค่อนข้างใช้เวลาคัดเลือกผู้ร่วมงาน จนกระทั่งได้บริษัท ซีคอม (ประเทศญี่ปุ่น) จำกัด (SECOM) ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะเป็นที่ยอมรับในยุโรปและเอเชีย สำหรับในไทยได้ร่วมทุนกับเครือสหพัฒน์ ตั้งบริษัท ซีคอมพิทักษ์กิจ จำกัด ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการ CCTV ของนครยะลายังได้เตรียมการให้สามารถพัฒนาสู่การเป็น “ไซเบอร์ซิตี้” ในอนาคตด้วย โดยใช้ใยแก้วหรือไฟเบอร์ออปติก 24 คู่สาย ซึ่งนอกจากจะมีความเสถียร รักษาความคมชัดของภาพโดยไม่ถูกรบกวน ป้องกันนักแฮกเกอร์เข้ามาป่วนระบบหรือแก้ไขข้อมูลได้แล้ว ยังสามารถรองรับทั้งการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและการใช้ Wi-Fi เคเบิ้ลทีวีได้โดยไม่ต้องลงทุนซ้ำอีกในอนาคต พร้อมทั้งวางระบบกันฟ้าผ่าไม่ให้ทำลายอุปกรณ์เสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
กล้อง CCTV ของนครยะลาทั้ง 310 ตัวจะมีการรับประกันนาน 2 ปี โดยจะมีการตรวจเช็คสภาพและบำรุงรักษาทั้งระบบเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในทุกจุดอย่างต่อเนื่อง หากมีปัญหาติดขัดหรือกล้องเสียบริษัทผู้ให้บริการจะส่งเจ้าหน้าที่มาแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง และมีสแปร์พาร์ทที่จะมีเจ้าหน้าที่อยู่ในห้องควบคุมเพื่อดูความเคลื่อนไหวในทุกพื้นที่ตลอดเวลา
“ตั้งแต่นครยะลาวางระบบ CCTV ขวัญและกำลังใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรืออาชญากรรมธรรมดา เราก็สามารถติดตามเบาะแสสาวถึงตัวคนร้ายได้ง่ายขึ้น เวลานี้การก่อเหตุภายในเขตเทศบาลนครยะลาก็ลดลง ในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ยังให้การสนับสนุนงบมาแล้ว 8.9 ล้านบาท ช่วงหลังเกิดเหตุระเบิดแผงขายอาหารในตลาดเมืองใหม่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 เพราะสามารถใช้ติดตามจับกุมคนร้ายได้สำเร็จ”
นายกเล็กนครยะลากล่าวด้วยว่า แม้กล้อง CCTV ของนครยะลาจะมีถึง 310 ตัวในเวลานี้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ที่มีถนนมากถึง 440 สาย หากจะให้ครอบคลุมควรต้องมีอย่างน้อย 1,000 ตัว ที่ผ่านมา เคยหวังว่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้มูลค่า 969 ล้านบาทของกระทรวงมหาดไทย แต่จนถึงวันนี้ความหวังก็ยังไม่เป็นจริง