ตรัง - กลุ่มสมาชิกสภา อบจ.ตรัง ยังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง กรณีที่จะมีการก่อสร้างก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 หน้าศาลากลาง ส่งเอกสารโครงการและเหตุผลคัดค้านไปถึงสำนักพระราชวัง
จากกรณีที่จังหวัดตรังจะดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือสมเด็จพระปิยมหาราช บริเวณหน้าเสาธงศาลากลางจังหวัดตรัง หลังเก่า แต่ถูกกลุ่มสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นำโดย ว่าที่ร้อยตรีชาญยุทธ เกื้ออรุณ ประธานสภา ออกมาเคลื่อนไหวว่า สถานที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างดังกล่าวไม่เหมาะสมและไม่สมพระเกียรติ ในขณะที่ นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ก็ยืนยันว่า การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นไปตามหลักระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2540 ส่วนงบประมาณในการก่อสร้าง 8.9 ล้านบาท ก็มีความโปร่งใสนั้น
ว่าที่ร้อยตรีชาญยุทธ เกื้ออรุณ ประธานสภา อบจ.ตรัง กล่าวว่า หลังรับฟังคำชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผ่านเอกสารมายังสภา อบจ.ตรัง แล้ว เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของการขอพระบรมราชานุญาตการก่อสร้าง และการขอพระบรมราชานุญาตขุดต้นศรีตรังทั้ง 2 ต้น ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้ รวมทั้งขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะทราบมาว่ามีการทำสัญญากับผู้รับเหมาไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ทางจังหวัดตรังได้ทำหนังสือมาถึง อบจ.ตรัง ขอความร่วมมือให้ข้าราชการของ อบจ.ตรัง ร่วมเป็นคณะกรรมการ 2 คน
โดยประกอบไปด้วย คณะกรรมการร่างขอบเขตงาน (TOR) และร่างเอกสารประกวดราคา จำนวน 1 คน และคณะกรรมการประกวดราคา จำนวน 1 คน ลงนามโดย นายไชยยศ ธงไชย ปลัดจังหวัดตรัง ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ซึ่งเมื่อทาง อบจ.ตรัง ส่งไป การทำงานของคณะกรรมการร่างขอบเขต และร่างเอกสารประกวดราคา จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 45 วัน
โดยขณะนี้ตนกำลังส่งหนังสือเอกสารโครงการ และเอกสารเหตุผลการคัดค้าน ไปถึงสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง และขอทราบข้อคลางแคลงใจที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ออกมาชี้แจงว่า ได้รับพระบรมราชานุญาตหรือยัง
ด.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย 1 ในสมาชิกสภา อบจ.ตรัง ก็กล่าวว่า ข้อชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไม่ชัดเจนทุกเรื่อง จึงทำให้เกิดความสงสัย ทั้งเรื่องของความเร่งรีบในการก่อสร้าง เพราะไม่ได้สอบถามความเห็นของประชาชนอย่างที่ได้กล่าวอ้าง ตลอดจนการขอพระบรมราชานุญาตในการก่อสร้าง และการขุดต้นศรีตรัง 2 ต้น ที่มีคุณค่าต่อจิตใจของคนตรัง ซึ่งปลูกโดย 2 ล้นเกล้าล้นกระหม่อม แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังใช้อำนาจอะไรมาขุดย้ายไป หรือนำไปไว้ที่ไหน ก็ไม่ได้แจ้งให้ทราบ
โดยเรื่องนี้ทางสมาชิกสภา อบจ.ตรัง อาจจะเดินหน้านัดเวทีถามความเห็นของประชาชนชาวตรังว่า เห็นด้วยต่อการกระทำของผู้ว่าราชการจังหวัดตรังคนนี้หรือไม่ พร้อมยืนยันสมาชิกสภา อบจ.ตรัง และเชื่อว่ารวมทั้งคนตรังทั้งหมด คงไม่มีใครคัดค้านการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทุกฝ่ายเห็นพร้อมให้จัดสร้างอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นด้วยที่จัดสร้างบริเวณเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง หลังเก่า ที่มีความคับแคบ ไม่สมพระเกียรติ และมีสถานที่ทำงานของประชาชนอยู่สูงกว่า ซึ่งต้องเดินไปเดินมาภายอาคารสิ่งก่อสร้างที่สูงกว่าพระองค์ท่าน ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม