xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.เพาะปัญญาสร้าง “ตำรวจยุง” กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - โรงเรียนเพาะปัญญา จังหวัดตรัง ต้นแบบใช้นักเรียนเป็นแกนนำในการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้สื่อหนังตะลุงช่วยป้องกัน และใช้ตำรวจยุงช่วยปราบปราม

วันนี้ (1 ก.ย.) โรงเรียนเพาะปัญญา ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 19 หมู่ที่ 5 ถนนสายตรัง-พัทลุง ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ได้ร่วมกับคณะครู นักเรียน และนางวันทนา มะนะโส หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลนาโยงใต้ สืบสานโครงการตำรวจยุง ที่ทางโรงเรียนได้ดำเนินการก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อปี 2545 ในช่วงที่โรคไข้เลือดออกกำลังระบาดในพื้นที่จังหวัดตรัง

ทั้งนี้ ได้นำนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มาเป็นแกนนำหลักในการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปัจจุบันมีกำลังทั้งหมด 40 คน และมีนางอารีย์ สุขมาก ครูประจำชั้นระดับปฐมวัย เป็นหัวหน้าตำรวจยุง โดยมี เด็กชายจีรเมษ ษัฏเสน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นผู้บังคับหมู่ตำรวจยุง และสถานีอนามัยตำบลนาโยงใต้ ได้ทำปลอกแขนตำรวจยุงติดให้ที่ต้นแขนขวา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทุกนาย

สำหรับบทบาทหน้าที่ของตำรวจยุงทุกนายจะจัดแบ่งโซนพื้นที่กันรับผิดชอบภายในบริเวณโรงเรียน รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่บริการ 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 2, 3, 4, 5 และหมู่ที่ 8 ในการเฝ้าระวังสอดส่องหรือป้องกัน เพื่อไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเกิดขึ้น ทั้งภายในบริเวณโรงเรียน หรือบ้านเรือนของตนเอง และของประชาชนในเขตรับผิดชอบ

ถือเป็นการทำงานอย่างเข้มแข็งร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลนาโยงใต้ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้นำชุมชน ควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ปกครองของตนเอง และร่วมออกรณรงค์ประชาชนแบบรายครัวเรือน พร้อมช่วยกันผลิตยาทากันยุงจากปูนขาว ผสมน้ำตะไคร้หอม เพื่อให้นักเรียนใช้ทากันยุงภายในโรงเรียน และนำกลับไปใช้ที่บ้าน เพื่อร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็งปลอดไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา)

นางเยาวลักษณ์ ศรีเพชร ผู้อำนวยการ โรงเรียนเพาะปัญญา กล่าวว่า โครงการตำรวจยุง เป็น 1 ในโครงการส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียน เพื่อสอดแทรกทักษะความรู้ และวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ โดยผ่านกิจกรรมที่ทางโรงเรียนได้กำหนดขึ้น เช่น การแสดงหนังตะลุง ศิลปวัฒนธรรมชื่อดังของภาคใต้ ให้ได้รับชมกัน ส่งผลให้นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เกิดความรู้เข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างได้ผล อย่างเช่น พื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลนาโยงใต้ ได้เป็นหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออกมากว่า 8 ปีแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น