ศูนย์ข่าวภูเก็ต - พบทารกอายุ 1 วัน ขาติดกันคล้ายเงือกคลอดที่ภูเก็ต หมอเผยพบเป็นรายที่ 5 ในประเทศไทย ขณะที่ที่โลกมีประมาณ 300 คน แต่มีชีวิตรอดหลังคลอดเพียง 2 คน
วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ห้องประชุมลีลาวดี โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการตติยภูมิ นพ.วีรวัฒน์ ยอแสงรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ หัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรม นพ.สมพงศ์ วันหนุน แพทย์สูตินรีเวช นพ.ปฐม สกลพิพัฒน์ แพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง และ นพ.นพพล ธารากุล กุมารแพทย์ระบบประสาท ร่วมกันแถลงข่าว กรณีหญิงชาวพม่า อายุ 36 ปี คลอดลูกด้วยวิธีการผ่าท้องคลอด คนที่ 4 ซึ่งเป็นการคลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์เพียงแค่ 35 สัปดาห์ โดยทารกที่คลอดออกมาร่างกายผิดปกติ มีขาติดกันเป็นชิ้นเดียวลักษณะคล้ายนางเงือก ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เรียกว่า Mermaid syndrome (Sirenomelia) พบได้เพียง 1 ใน 70,000 ของการคลอด
นพ.ศิริชัย กล่าวว่า สำหรับทารกดังกล่าวทางแพทย์ได้ทำการผ่าคลอดเมื่อเวลา 18.42 น. วันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ด้วยอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่าน้ำคล่ำมีน้อยเพียงประมาณ 20-30 CC เมื่อผ่าคลอดออกมาปรากฎว่าทารกขาติดกันเป็นชิ้นเดียว มีน้ำหนักตัว 2,240 กรัม ลำตัวยาวประมาณ 48 เซนติเมตร เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพศใด เนื่องจากไม่มีอวัยวะที่บ่งชี้ที่ชัดเจน มีเพียงรูเล็กๆ อยู่ด้านหลัง แต่ยังไม่สามารถรู้ว่าเป็นรูอะไรต้องมีการตรวจสอบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
โดยความผิดปกติของทารกที่พบดังกล่าวถือเป็นรายแรกของจังหวัดภูเก็ตและเป็นรายที่ 5 ของประเทศ ซึ่งจากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกมีทั้งหมด 300 ราย และส่วนใหญ่เสียชีวิตหลังคลอด โดยปัจจุบันมีชีวิตรอดมีเพียง 2 ราย รายแรกเป็นชาวอเมริกัน ชื่อ ยอช์ท เกิดเมื่อปี ค.ศ.1980 ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ โดยผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 5 ครั้ง รายที่ 2 เป็นชาวเปรู ชื่อ มิรากอรส เซอร์ร่อน ไม่มีไต อวัยวะเพศภายในกับทวารหนักข้างในเป็นอันเดียวกัน เกิดเมื่อปี ค.ศ.2004 ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ไม่มีไต ทางเดินปัสสาวะผิดปกติ หัวใจผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
ส่วนการรักษานั้น นายแพทย์ ศิริชัย กล่าวว่า รพ.วชิระ ไม่มีศัลยกรรมกุมารหรือแพทย์เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเด็กโดยเฉพาะ จึงได้มีการติดต่อประสานงานกับทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อส่งต่อเด็กไปทำการดูแลขั้นต้น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากคาดว่าจะต้องมีการผ่าตัดอีกหลายครั้ง และจะได้ติดตามการรักษาและรับกลับมาดูแลต่อไป โดยจะส่งไปรักษาโดยเร็วที่สุด
นพ.ศิริชัย กล่าวถึงการผ่าตัดที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่า ขั้นต้นจะต้องมีการผ่าตัดเพื่อให้เด็กสามารถที่จะถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ก่อน หลังจากที่เด็กแข็งแรงพอแล้วก็จะมาผ่าตัดเพื่อแยกขา ส่วนจะพิการหรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดว่าเป็นอย่างไร แต่หากเป็นเพียงผังผืดเพียงเล็กน้อย กล้ามเนื้อเส้นประสาทสัมผัสต่างๆ ที่มีอยู่ก็คงไม่มีปัญหา แต่หากติดมากก็จะมีความพิการตามมาได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของเด็กแต่ละคนซึ่งแพทย์จะประเมินอีกครั้ง นอกจากนี้ก็จะต้องมีการตกแต่งอวัยวะเพศต่อไป
สำหรับการรอดชีวิตของเด็กนั้น นพ.ศิริชัย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น หัวใจ ไตทั้ง 2 ข้าง ระบบทางเดินปัสสาวะทิศทางออก เป็นต้น ซึ่งจะทราบได้จากการเอกซเรย์ หากความผิดปกติไม่มาก เรื่องของขาไม่ใช่เรื่องใหญ่คงใช้เวลาในการแก้ไขได้ หากอวัยวะภายในผิดปกติไม่มากโอกาสรอดก็จะสูง ทั้งนี้ ความผิดปกติอย่างนี้พบได้ไม่บ่อยนัก จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจ เพื่อจะได้มีการติดตามกระบวนการรักษา เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาความผิดปกติในการคลอดอื่นๆ ได้อีก
ส่วนสาเหตุของความผิดปกตินั้น นพ.ศิริชัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีบางรายที่แม่เป็นโรคเบาหวาน กรณีนี้ไม่พบโรคดังกล่าว แต่สามารถที่จะอธิบายได้ว่าในขั้นตอนวิวัฒนาการของการเติบโตภายในครรภ์จะต้องมีการสร้างอวัยวะ หากวิวัฒนาการดังกล่าวถูกรบกวนด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เช่น มีเชื้อไวรัส เป็นต้น ทำให้อวัยวะในส่วนที่จะต้องวิวัฒนาการเป็นไต กระเพาะปัสสาวะ หรือขาไม่สมบูรณ์ หรือสมบูรณ์ไม่ 100% จึงทำให้เนื้อติดกัน แต่กรณีถือว่าเป็นความผิดปกติน้อยกว่าเด็กมีหัวติดกัน