xs
xsm
sm
md
lg

สร.ร.ฟ.ท.แถลงการณ์ฉบับที่ 4 “รวมพลังต่อต้านการทำลาย ร.ฟ.ท.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 เรื่อง รวมพลังต่อต้านการทำลาย ร.ฟ.ท. หลังได้ประกาศให้รถไฟหยุดวิ่งทั่วประเทศ

วันนี้ (22 มิ.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เรื่อง รวมพลังต่อต้านการทำลาย ร.ฟ.ท.โดยเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.52 และให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 3 เม.ย.50 ต่อไป ดังแถลงการณ์ ความว่า

ตามที่ ครม.เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 มี มติแยกสลายการรถไฟฯ ออกเป็น 3 ส่วน โดยให้เหตุผลว่าการรถไฟฯมีปัญหา ขาดความชัดเจนด้านทิศทางและนโยบายการดำเนินงาน ปัญหารถจักร รถพ่วง มีอายุการใช้งานมาก ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และปัญหาการเงิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร และกระทรวงคมนาคมทั้งสิ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้บริหารเหล่านี้กลับไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือยอมรับผิดจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของตนแต่อย่างใด

อย่างกรณีที่นักการเมืองจากจังหวัดบุรีรัมย์ที่โกงที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง ทั้งๆที่มีความผิดชัดแจ้ง ยังไม่สามารถดำเนินการนำที่ดินของรถไฟฯกลับมาได้ การแยกสลาย ทำลายการรถไฟฯ โดยอ้างว่าเมื่อแยกเป็นบริษัทแล้วจะทำให้แก้ไขปัญหาของการรถไฟฯได้ จะทำให้แต่ละส่วนมีภารกิจที่ชัดเจน ลดปัญหาทางการเงินได้

แต่ข้ออ้างเหล่านี้ได้เผยให้เห็นความจริงมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลกว่าเป็นเพียงกลอุบายที่เลื่อนลอยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง รัฐบาลยังคงต้อง สนับสนุนงบประมาณต่อไป ประเทศอังกฤษแยกเป็นบริษัทแล้วทำให้การเดินรถเกิดอุบัติเหตุบ่อย ประเทศนิวซีแลนด์แยกแล้วมีปัญหาในการประสานงาน การบริการไม่ดีแต่ราคาบริการกลับสูงขึ้น จนรัฐบาลนิวซีแลนด์ต้องซื้อกลับมาคืนเป็นของรัฐดังเดิม

การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างรุนแรง พร้อมกับเปิดทางให้นายทุนเอกชนเข้ามาแสวงหากำไรขูดรีดประชาชน สิ่งที่หลอกลวงประชาชนว่าเป็นบริษัทแล้วให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน การให้บริการจะดีขึ้นไม่เป็นความจริง เพราะจะมีการแบ่งสัมปทานกันเป็นสายๆ ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก ไม่มีสิทธิต่อรอง ไม่มีการแข่งขันจริงและจะขึ้นราคาโดยไม่มีการปรับปรุงบริการใดๆ

การรถไฟฯ มีข้อตกลงกับสหภาพฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ข้อ18 ความว่า “ ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์กรของการรถไฟฯ ต้องทำความตกลงกับสหภาพแรงงานรถไฟฯ ก่อนทุกกรณี ”เป็นข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การรถไฟฯ กลับไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และประกาศการรถไฟฯฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2552 ที่อ้างว่าจะกลับมาหารือกับสหภาพก่อน

ขณะเดียวกัน การรถไฟฯได้รีบออกหนังสือเลขที่ 1/3041/2552 ลงวันที่ 18 มิย.52 ลงนามโดย ผวก.ถึงนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรื่องอนุญาตให้ใช้ชื่อบริษัทเดินรถ(ไม่ใช่บริษัทรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ตามที่อ้าง)และบริษัทบริหารทรัพย์สิน เป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อเดินหน้าในการจดทะเบียนบริษัทต่อไป แสดงถึงความไม่จริงใจของฝ่ายบริหารในการเจรจากับสหภาพฯและเป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการกว่า 200,000 ล้านบาทจากแผนฯ และงบประมาณที่ได้รับอนุมัติตาม (พ.ร.ก.) กู้เงินและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 2 ฉบับเป็นเงิน 800,000 ล้านบาทซึ่งด้านการขนส่ง (Logistic) ได้งบประมาณสูงถึง 600,000 ล้านบาท

นี่คือสาเหตุที่แท้จริง ของเบื้องหลังการแปรรูปรถไฟ และใครคือไอ้โม่งที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจการเมืองจากการได้รับสัมปทานโครงการต่างๆ ในรถไฟฯและใครคือไอ้โม่งที่จัดตั้งบริษัทเพื่อเตรียมที่จะเข้ามาเขมือบรถไฟ และคดีความต่างๆ ระหว่างนักการเมืองจังหวัดบุรีรัมย์กับการรถไฟฯ จะมีสถานะอย่างไรเมื่อแยกสลายการรถไฟฯ แล้ว


สร.ร.ฟ.ท.ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลให้พัฒนารถไฟมาตลอด พร้อมข้อเสนอที่ชัดเจน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน กลับมีการวางแผนกันเป็นระบบทำลายการรถไฟ เช่น ออกมติ ครม.เมื่อ 28 กค.41 ไม่ไห้รับพนักงานเพิ่ม ไม่จัดซื้อรถจักรและรถพ่วงรุ่นใหม่ ให้รถไฟฯสนองนโยบายของรัฐบาล แต่ไม่ยอมจ่ายเงินที่ต้องทำตามนโยบาย ทำให้การรถไฟต้องเป็นหนี้เพิ่มในโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ถึง 35,000 ล้านบาท รวมถึงกรณีโครงการโฮปเวลล์อันแสนอัปยศ ทำให้รถไฟเป็นหนี้ ไม่มีใครเสนอหน้าออกมารับผิดชอบไม่ว่านักการเมือง รัฐมนตรี บอร์ด หรือผู้ว่าการฯ

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการดำเนินการแบบนี้คือการทำลายรถไฟ แผนฟื้นฟูฯ คือวาทะกรรมหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นสิ่งดี แต่ธาตุแท้ของมันคือการนำสมบัติของสาธารณะ ไปให้บริษัทเอกชนเข้ามารับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ และคำว่า ‘‘การรถไฟแห่งประเทศไทย” จะไม่มีอยู่อีกต่อไป นี่คือภารกิจอันยิ่งใหญ่ และเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการต่อสู้ ถึงเวลาแล้วที่พนักงานรถไฟ และครอบครัวทุกคนซึ่งถือเป็นทหารกล้า ต้องลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ปกป้องการรถไฟฯ ที่สมเด็จพระปิยะมหาราชเจ้าทรงสถาปนาขึ้นเพื่อเป็นสมบัติชาติและประโยชน์สุขของประชาชน ไม่ให้ฝ่ายบริหารและนักการเมืองเลวทำลายลง ถึงเวลาที่ต้องสำนึก ถึงเวลาที่ต้องตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ รักษาองค์กรของพระองค์ท่านไว้ให้ลูกหลานดังพระราชปณิธานสืบไป

ดังนั้น ข้อเสนอของ สร.ร.ฟ.ท.คือ ต้องพิจารณาทบทวนมติ ครม.เมื่อ 3 มิย. 52 และให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 03 เมย.50 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น