ศูนย์ข่าวหาดใหญ่….รายงาน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ห้วงเดือนมิถุนายนของทุกปีสติถิก่อนก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมีความรุนแรงปะทุขึ้นมากที่สุดในรอบปี เฉกเช่นเดียวกับปีนี้
ที่อยู่ในช่วงการพิจารณางบประมาณที่จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นับหมื่นล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และอยู่ในช่วงที่รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใหม่ให้มีความเข้มแข็งในชื่อว่า สำนักบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ (สบ.จช.)
ไม่ถึงครึ่งเดือนจึงมีเหตุสะเทือนขวัญแทบไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งกรณียิงลวงยิงถล่มรถยนต์ปลิดชีวิต 2 ครูสาว และลูกน้อยในครรภ์ 8 เดือน ซึ่งไม่มีโอกาสแม้แต่จะหายใจบนโลกใบนี้ จารึกยอดครูผู้สังเวยไฟใต้ลำดับที่ 114 ล่าสุดยังเกิดเหตุคนร้ายยิงถล่มมัสยิดขณะที่ชาวบ้านกำลังละหมาด ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 11 ศพ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นใน จ.นราธิวาสทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ (12 มิ.ย.) คนร้ายยังได้ใช้อาวุธปืนอากากราดยิงใส่พระลูกวัดวัดวาลุการาม หรือวัดคลองทราย ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ในขณะบิณฑบาต จนมรณภาพอีก 1 รูปสาหัส 1 รูป ที่บริเวณถนนสายท่าสาป-ดอนยาง หมู่ 5 บ้านคลองทราย ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา
ความโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นสร้างความเสียขวัญให้ทั้งประชาชนตาดำๆ ยิ่งรุมเร้าให้คนในรัฐบาลที่ดูแลพื้นที่นี้ต้องเร่งลงพื้นที่ถี่ขึ้น
ในวันนี้ (13 มิ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลฝ่ายความมั่นคง ทั้งที่รอยเท้าของการเยือนพื้นที่นี่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมยังไม่ทันจางหาย และคณะก็จะลงพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งการเดินทางครั้งนี้นอกจากเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมชี้แจงแนวทางการแก้ไขความไม่สงบภายใต้โครงสร้างใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญในการดับไฟใต้ควบคู่กับการพัฒนาในงบก้อนโตกว่า 6.3 หมื่นล้านในปีงบประมาณ 2553-2555 แล้ว ยังต้องสร้างความมั่นของพี่น้องประชาชนถึงการทำงานดับไฟใต้ อันเป็นการรักษาคะแนนเสียงสำคัญ ซึ่งโจทย์ปัญหานี้จะชี้เป็นชี้ตายพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งสมัยหน้าเลยก็ว่าได้
เพราะหากปัญหาในพื้นที่ของตัวเองแล้ว ยังไม่สามารถจับจุดและสร้างการเปลี่ยนแปลงเหมือนขณะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และสร้างความแตกต่างให้เด่นชัดกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ แล้ว ประชาชนก็คงหมดหวังกับการแก้ปัญหาอื่นๆ
นายอิบรอเฮ็ม ปาโอะ ชาวบ้าน จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า รู้สึกสลดใจต่อเหตุสลดที่เกิดขึ้นในมัสยิด จ.นราธิวาส เป็นอย่างมาก และอยากขอร้องผู้ที่ก่อเหตุให้ยุติการกระทำ เพราะทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวไม่กล้าประกอบศาสนกิจต่างๆ ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานด้วยความโปร่งใสให้คนในพื้นที่มีความมั่นใจมากกว่านี้ เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนดีจะมีเยอะ แต่กับบางคนที่ชาวบ้านยังไม่มั่นใจ จึงอยากให้ปฏิบัติงานด้วยความจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
ด้าน หะยียะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี (...หะยีเป็นตำแหน่งศาสนา....) สะท้อนความคิดเห็นว่า ความปลอดภัยที่หาไม่ได้แม้แต่ในมัสยิดซึ่งเปรียบดั่งบ้านของพระเจ้าที่มีความปลอดภัยที่สุดของชาวมุสลิมนั้น แล้วนับประสาอะไรกับความปลอดภัยของคนทั่วไป และการก่อเหตุนี้เกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยมเหมือนคนไร้ศาสนา
ทั้งนี้ ความรู้สึกของชาวมุสลิมหลังจากเกิดเหตุความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นฝีมือการก่อความไม่สงบของคนในพื้นที่ แต่อาจจะเป็นฝีมือของมือที่สาม เช่นเดียวกับที่พี่น้องชาวพุทธเองก็ไม่มีใครเชื่อว่า การก่อความไม่สงบกับพุทธสถานจะเป็นฝีมือของพี่น้องชาวมุสลิมเช่นเดียวกัน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐเองก็ไม่ได้สร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้น ทำให้สังคมอยู่ด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกันเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม หลังการก่อเหตุร้ายสะเทือนขวัญ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทุกชุดมักจะใช้วิธีการลงพื้นที่ ซึ่งแม้จะไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในทันใด แต่เป็นจิตวิทยาในการทำงานร่วมกับมวลชน เพื่อแบ่งรับความทุกข์ร้อนใจของประชาชน และลดช่องว่างระหว่างประชาชนกับภาครัฐ เสมือนมีอะไรมาขวางกันซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่มีรัฐบาลไหนทำสำเร็จ เพราะความจริงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
โดยเฉพาะฝ่ายข้าราชการพลเรือนซึ่งควรจะคลุกคลีเยี่ยมเยียนประชาชน แต่บางส่วนนั้นการทำงานยังยึดติดกับการสถานที่ทำงาน โดยไม่ได้ขยับเขยื้อนออกนอนสถานที่ดั่งที่ควรจะเป็น ขณะที่ฝ่ายทหารควรจะทำหน้าที่รั้วของชาติให้มีความเข้มแข็ง กลับต้องลงพื้นที่เข้าหามวลชนในระดับหมู่บ้าน ซึ่งเป็นงานที่ไม่ถนัด เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการใช้ชีวิตเข้าหาวิถีชุมชน
นายยะโก๊ป กล่าวเปรียบปัญหาไฟใต้ว่า เหมือนโรคร้ายเรื้อรังที่ลองยาสมัยใหม่มาแล้วหลายขนาน แต่ก็ยังไม่หาย ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ป่วยก็อยากลองรักษาด้วยยาพื้นบ้านเองดูบ้าง ดังเช่นที่ว่า “ลางเนื้อ ชอบลางยา” เผื่อบางทีโรคร้ายๆ อาจจะมาตายด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านก็เป็นได้ ซึ่งจะเป็นผู้สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ว่าปัญหาแท้จริงแล้วคืออะไร แล้วมีความต้องการอย่างไร แต่วิธีการจะทำอย่างไรนั้น ต้องคุยเป็นการภายใน เพราะแม้ทุกคนจะมีพื้นฐานการแสดงความคิดเห็นด้วยการรักประเทศชาติ แต่การพูดบางเรื่องในที่แจ้งก็จะเป็นภัยแก่ตัวเอง
ท้ายที่สุดประเด็นที่ผู้นำศาสนาได้ฝากกำชับหนักๆ กลับเป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลควรจะนำไปคิดไตร่ตรอง นั่นคือคำพูดที่แสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลเพื่อข่มขวัญกลุ่มฝ่ายความไม่สงบ เพราะคำพูดเหล่านี้ได้เมื่อกระทบบุคคลที่สามแล้ว มักจะมีเหตุความไม่สงบสะท้อนกลับความล้มเหลวของภาครัฐ
แต่ผลกระทบนั้นทำให้คนในพื้นที่ตกอยู่ในอาการขวัญหายดีฝ่อ และหวาดผวาจนไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใครได้อีก ดังเช่นคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ราคากลุ่มก่อความไม่สงบที่มีตัวตนและขบวนการว่าเป็น “โจรกระจอก อันเป็นจุดเดือดของสถานการณ์จนถึงทุกวันนี้
ถึงนาทีนี้ รัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์คงต้องทบทวนตัวเอง และระมัดระวังมากขึ้น ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์มีบทเรียนในการจุดปะทุความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วยความไม่เข้าใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน อาทิ นโยบายวางแผนครอบครัวด้วยการคุมกำเนิด การเปลี่ยนชื่อสถานที่และชื่อคนจากภาษามลายูซึ่งสะท้อนและรักษาอัตตาลักษณ์ในท้องถิ่นมาเป็นภาษาไทย หรือแม้แต่การห้ามนักศึกษาสตรีมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนา
ประเด็นเหล่านี้ มิใช่หยิบยกมาเพื่อเป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ยกตัวอย่างเพื่อเป็นข้อเตือนใจถึงการแก้ปัญหาด้วยพื้นฐานของความเข้าใจ เคารพในความแตกต่าง และรับฟังความต้องการของพื้นที่ เฉกเช่นเดียวกับโอกาสนี้ ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสได้ผงาดนั่งในเก้าอี้ฝ่ายบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง
และหวังว่าการลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลจะน้อมรับฟังข้อมูลเสียงสะท้อนความต้องการแท้จริงของคนในพื้นที่ นำโจทย์ของคนในท้องถิ่นไปขบคิดหาคำตอบและนำเป็นข้อมูลใช้ในการตัดสินใจกำหนดทิศทางและนโยบายใดๆ มิใช่เพียงแค่การลงพื้นที่เพื่อสร้างภาพรับฟังการบรรยายสรุปทำงานแบบรูทีน มิใช่นักวิจัยมืออาชีพที่มีเครื่องมือในการสืบเสาะหาข้อมูลและวิเคราะห์ความเป็นไปได้
มิฉะนั้น การลงพื้นที่ก็จะเสียเวลาในการทำงาน เฉกเช่นรัฐบาลก่อนๆ ที่เคยดำเนินมา และสุดเสียดายโอกาสในการทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์รอคอยโอกาสนี้มาเกือบ 10 ปี