xs
xsm
sm
md
lg

จากไฟใต้ ถึง 7 ตุลาเลือด เมื่อปัญหาแก้ไม่ได้ด้วยการ “พับนก”

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ปัญหาไฟใต้ หรือความไม่สงบ-ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้ว โดยมาเร่งอัตราขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2547-2548 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ข้อมูลจาก “หนังสือความรู้และความไม่รู้ 3 จังหวัดชายแดนใต้” โดย อ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มอ. ปัตตานีระบุว่า ในช่วง 2 ปี 2547-2548 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มากถึง 3,546 ครั้ง หรือเฉลี่ยแล้วปีละ 1,700 ครั้ง หรือเดือนละเกือบ 150 ครั้ง หรือวันละเกือบ 5 ครั้ง

ผมในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งต้องยอมรับโดยดุษณีว่า ในกรณีปัญหาไฟใต้ตัวเองทำหน้าที่ได้บกพร่องอย่างยิ่ง ...

กล่าวคือ ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในส่วนกลางกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่แทบจะไม่ค่อยให้ความสนใจปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ มากไปกว่าการรายงานข่าวไปตามสถานการณ์วันต่อวัน เช่น วันนี้มีเหตุการณ์ปล้นปืน วันนี้มีการเผาโรงเรียน วันนี้มีการฆ่าพระสงฆ์ วันนี้มีการวางระเบิด วันนี้มีการดักยิงตำรวจ-ทหาร ตายไปกี่นาย ส่วนข้อมูลเชิงลึก เชิงวิเคราะห์ อื่นๆ นั้นกลับถูกเก็บอยู่ในกองหนังสือข้างตัว หรือในห้องสมุดเสียเป็นส่วนใหญ่

กระทั่งหลังเหตุการณ์ “ตำรวจฆ่าประชาชน” กลางกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 400 คน ตัวผมเองกลับเพิ่งมาฉุกคิดได้ว่า

“ขนาดกลางเมืองหลวง รัฐบาลชั่วยังกล้าสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนขนาดนี้ แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวไทยในภาคใต้ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะรุนแรง และเลยเถิดไปถึงขนาดไหน?”

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุการณ์ถล่มมัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 คน และเหตุการณ์การล้อมปราบกลุ่มผู้ประท้วงที่หน้า สภ.อ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ทำให้ผู้เสียชีวิต 108 คนและสูญหายอีกหลายสิบคน (โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต 108 คน 84 คนเสียชีวิตระหว่างการขนส่งผู้ต้องหาไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี) จะทำให้สถานการณ์ไฟใต้ลุกโหมขึ้นรุนแรง และถึงปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าว่าจะดับลง

เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ และหันกลับมาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ผมพบว่าท่าทีของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงบทบาทของสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์-วิทยุ-หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่นั้น เป็นตัวกระตุ้นให้มวลชน และประชาชนในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรฯ แต่ทราบข้อเท็จจริงนั้นโกรธเกลียดและโกรธแค้นต่อ “ตำรวจ” มากขึ้น

จากการให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งเหยียบกันเองจนทำให้ขาขาด, “น้องโบว์” พกระเบิดไว้ในถุงผ้าซึ่งหนีบไว้ใต้รักแร้แต่วิ่งสะดุดหกล้ม ระเบิดจึงปะทุทำให้เสียชีวิต, พ่อน้องโบว์พาลูกไปตาย ,“สารวัตรจ๊าบ” เตรียมขนระเบิดมาถล่มรัฐสภาแต่รถเกิดระเบิดขึ้นเองเสียก่อน, “พี่ตี๋” กำระเบิดปิงปองไว้ในมือ, “พี่แจ็ค ธัญญา” เป็นขอทานขาขาดที่พันธมิตรฯ จ้างมาสร้างภาพว่าตำรวจใช้ความรุนแรง, ผู้เสียชีวิต-สูญเสียอวัยวะทั้งหมดได้รับอันตรายจากระเบิดแก๊สน้ำตามิได้เกิดจากอาวุธร้ายแรง, ตำรวจใช้วิธีละมุนละม่อมที่สุดในการปราบปรามกลุ่มพันธมิตรฯ, นอกจากแก๊สน้ำตา โล่ และกระบองแล้วตำรวจไม่ได้ใช้อาวุธอื่นใดเลยในปฏิบัติการวันที่ 7 ต.ค., ตำรวจทำไปเพื่อรักษาประชาธิปไตย ฯลฯ

นอกจากนี้ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐยังกระทำการและใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้กับพวกตนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยกตัวอย่างเช่น การที่นักการเมืองไปแจ้งความว่า วันที่ 7 ต.ค. พันธมิตรฯ กักขังหน่วงเหนี่ยวพวกตนอยู่ในรัฐสภา ตำรวจเร่งดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถทับเจ้าหน้าที่ขณะที่ปกป้องพวกเดียวกันเองอย่างน่าละอาย

ส่วนรัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดมาตรวจสอบตัวเอง ทั้งๆ ที่ปราศจากความชอบธรรม แต่กลับละเลยที่จะ “แสดงความรับผิดชอบ” ต่อเหตุการณ์ตามรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 ซึ่งระบุชัดเจนว่า “เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้”

ความรู้สึกตกใจ เศร้าใจ เสียใจ สมเพช ทุเรศ และอยากประณามเหล่านักการเมือง สื่อมวลชน และตำรวจเกิดขึ้นระคนกันไปในจิตใจของผมเองและพี่น้องพันธมิตรฯ ซึ่งทุกคนต่างก็มีความคับแค้น คับข้อง คับอกคับใจต่อ “ความอยุติธรรม” ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

ท่ามกลางกล้องวิดีโอ กล้องถ่ายรูป รูปถ่าย คลิปวิดีโอ พยานวัตถุ พยานบุคคล บาดแผลของผู้บาดเจ็บ ร่างของผู้เสียชีวิต ญาติมิตรที่ได้รับผลกระทบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจำนวนนับไม่ถ้วน กอปรกับประชาชนนับหมื่นที่สามารถเป็นพยานยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ได้อย่างชัดเจน นักการเมืองชั่วและตำรวจถ่อยก็ยังคง “โกหก” ได้อย่างหน้าไม่อาย

ที่น่าเศร้าที่สุด คือ สื่อมวลชนส่วนใหญ่กลับมิได้ใช้สมองกลั่นกรองสิ่งที่นักการเมืองหรือตำรวจแถลงแต่อย่างใด โดยปฏิบัติตนเป็นเพียงแค่ “เด็กส่งเอกสาร” ที่รีบนำ “คำโกหก” เหล่านั้นเผยแพร่ไปสู่สาธารณะ

ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาไฟใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้จึงเป็นข่าวด้านเดียว ข่าวเหตุการณ์ประจำวัน ข่าวสารที่บิดเบือน เรื่องโกหกคำโตของเจ้าหน้าที่รัฐ จนในที่สุดสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็น “เชื้อเพลิงของความรุนแรง” ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

หลังเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. จากข่าวหลายกระแสที่เข้ามาถึงตัวผม ยืนยันว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดเหตุร้ายต่อสถานที่ราชการ เหตุการณ์ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่เลือกว่าใครเป็นใคร ใครเป็นคนดี-ใครเป็นคนเลว ใครเป็นผู้ก่อการ-ใครเป็นผู้บริสุทธิ์

ร้ายแรงจนถึงขนาดที่ อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ต้องออกมาเขียนบทความเรื่อง “ลงใต้ดิน” ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 13 ต.ค. 2551

ทว่า ... ต้องนับถือจิตใจที่แกร่งกล้าและยึดมั่นในความสงบ สันติ อหิงสา ของมวลชนพันธมิตรฯ ทั้งหมด ที่หลังวันที่ 7 ต.ค. ไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ขึ้น ไม่มีตำรวจถูกลอบทำร้าย ไม่มีสถานที่ราชการถูกเผา ไม่มี ส.ส.หรือนักการเมืองถูกรุมประชาทัณฑ์ มีแต่การอารยะขัดขืนจากปัญญาชนที่ประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล อาจารย์ สหภาพแรงงาน นักบิน ประชาชน ฯลฯ ซึ่งระดับความรุนแรงของปฏิกิริยาต่อต้านนั้นถือว่าต่ำกว่าการลอบทำร้าย-เผา-รุมประชาทัณฑ์มาก

สำหรับคำถามจากนักวิชาการ-สื่อมวลชน บางฝ่ายที่ว่า เมื่อไหร่พันธมิตรฯ จะหยุดชุมนุม?

ผมตอบให้ก็ได้ว่า วิธีการง่ายที่สุดในการลดจำนวนผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ลดความชอบธรรมในการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ลดความร้อนแรงของสถานการณ์บ้านเมือง ลดระดับวิกฤตของบ้านเมือง ณ เวลานี้ มิใช่การท่องคำว่าสมานฉันท์ การพร่ำบ่นให้ทุกคนสามัคคีกัน การจัดงานสานเสวนา การลาออก-ยุบสภาฯ หรือการตั้ง ส.ส.ร. 3 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยิ่งไม่ใช่ “การพับนกกระดาษ 60 ล้านตัว”!

แต่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือ การสร้าง “ความยุติธรรม” ให้ปรากฏ ดังเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันอังคารที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา และหยุดความฉ้อฉลของกระบวนการยุติธรรมในขั้นตำรวจและอัยการ ดังเช่น กรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดหุ้นเอสซี แอสเสท ของตระกูลชินวัตร

ไม่มีทางอื่นครับ “ไฟกลางกรุง” จะมอดลงได้ก็ด้วย “สายธารแห่งความยุติธรรม” ที่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันเท่านั้น ส่วนการดับ “ไฟใต้” นั้น “การสร้างความยุติธรรม” ให้ปรากฏ เป็นเพียงปัจจัยหลักประการหนึ่ง ที่ต้องการปัจจัยหลักและปัจจัยรองอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องของเราที่ถูกทอดทิ้งมานานเต็มที
กำลังโหลดความคิดเห็น