สุราษฎร์ธานี - นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุรัฐบาลนอมินี “สมัคร สุนทรเวช” อยู่ไม่ครบเทอมแน่ เหตุปัจจัยทางการเมือง ทั้ง “แม้ว” ความขัดแย้งภายในพรรค และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน รุมเร้า เชื่อยังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญแน่
ที่หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดร.ณรงค์ พุทธชีวิน อธิการบดี ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมสื่อมวลชนส่วนกลาง
ร่วมกันอภิปรายเรื่อง “รู้ทันการเมือง ฤาเรื่องประชาชน” โดยมีผู้นำชุมชนท้องถิ่น นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปกว่า 500 คน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย สิทธิหน้าที่ขั้นพื้นฐานของพลเมือง สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 จะต้องแก้ไขบางมาตรา และปัจจัยที่กดดันปัญหาทางการเมืองมากที่สุด คือ เรื่องอดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปัจจัยเหล่านี้ลดลง แรงกดดันก็ลดลง กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินไปตามขั้นตอน รัฐบาลก็ได้มีเวลามาบริหารบ้านเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ความขัดแย้งในพรรคพลังประชาชนก็ลดลง เพราะอดีตผู้นำที่ได้รับการยอมรับไม่อยู่ทำให้การติดต่อ หรือพูดคุยใดๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น ทั้งในระยะกลาง และระยะยาวทางการเมืองไทยมีเสถียรภาพไม่มากนัก คดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีก็ดี และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคทางการเมือง อาจมีผลกระทบหรือแรงกดเพิ่มให้ ส.ส.คิดหาหนทางเพื่อโยกย้ายพรรค
โดยปัจจุบันนี้ก็มี ส.ส.บางรายได้ทำการย้ายพรรคไปบางส่วนแล้ว และเรื่องของการเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้ง รอผลกระทบของการยุบสภาหรือยุคพรรคจนถึงขั้นวิกฤตขึ้นในทุกกรณี ที่ศาลตัดสิน เพราะฉะนั้น ช่วงนี้เสถียรภาพทางการเมืองมีไม่เยอะมากนัก
แต่คิดว่า โดยรวมระยะยาว รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อย่างเป็นระบบ รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันตามห้วงเวลาตามประเด็นต่างๆ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ การเมืองก็จะเริ่มคลีคลายลง ต้องใช้เวลาสักพักอาจเป็นปีหน้าหรือปีถัดไป จะเริ่มคลีคลายลงได้
สำหรับประเด็นการยุบพรรคพลังประชาชน รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เข้าใจว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่อยากยุบสภาหากไม่จำเป็น การจัดตั้งรัฐบาลแต่ละครั้งไม่ใช่จัดตั้งได้ง่ายๆ การเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละท่าน ของแต่ละรัฐบาลก็ไม่ใช่จะสามารถทำได้ง่ายๆ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ไปจนกว่าจะเจอวิกฤตการณ์จริงๆ
ส่วนมากก็มาจากเรื่องของการยุบพรรค อีกส่วนหนึ่งคดีความเกี่ยวข้องกับผู้บริหารหรือเกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เหนือความคาดหมาย การแตกตัวของพรรครัฐบาลก็ดี อื่นๆ ก็ดี รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของประชาชน
เรื่องเหล่านี้ต้องเข้าใจในรัฐบาล แต่ต้องจับตามองรัฐบาลว่ายังอยากอยู่ไปสักพักรอผ่านงบประมาณ พระราชบัญญัติ โยกย้ายข้าราชการก็ทำได้ แต่ประมาณการว่ารัฐบาลนี้ไม่อยู่ครบเทอม การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเกิดขึ้นใดในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง การเลือกตั้งก็จะตามมา