ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน
การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์และซุ่มยิงเมื่อวันที่ 12 มี.ค. นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการตำรวจไทย ที่น้อยนักจะหาตำรวจน้ำดีผู้ทุ่มเทชีวิตราชการตลอด 40 ปี ปราบปรามผู้ก่อการร้ายในพื้นที่สีแดง และสามารถปิดบัญชีโจรใต้นับร้อยราย แม้แลกกับร่างกายที่เต็มไปด้วยร่องรอยคมกระสุนและฝ่าดงระเบิดนับไม่ถ้วน จนได้ฉายาว่า "จ่าเพียรนักสู้แห่งเทือกเขาบูโด" และ "จ่าเพียรขาเหล็ก"เนื่องจากยึดการลาดตระเวนด้วยเท้าเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่
หลังจากมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพที่วัดเมือง จังหวัดยะลา ท่ามกลางบรรยากาศที่โศกเศร้า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา เย็นวันเดียวกันได้เคลื่อนย้ายศพมาบำเพ็ญกุศลต่อที่วัดคลองเปล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีสวดอภิธรรม
ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา โดยมีนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นตัวแทนพระองค์อันเชิญมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ณ วัดคลองเปล อ.เมือง จ.สงขลา ในวันพุธที่ 17 มีนาคม 2553 เวลา 14.00 น. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่ครอบครัวของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา และข้าราชการตำรวจโดยส่วนรวม
ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอพระราชทานยศพลตำรวจเอกให้ ซึ่งเป็นการพูนบำเหน็จเงินเดือน 7 ขั้น 5 ชั้นยศ พร้อมทั้งดูแลด้านสวัสดิการ เงินช่วยเหลือจำนวน 1 ล้านบาท รวมทั้งการดูแลครอบครัวและทายาท ซึ่งประกอบด้วย นางพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ และบุตรชาย 4 คน ได้แก่ นายชุมพล เอกสมญา เป็นศิลปินนักร้องแนวเพลงเพื่อชีวิต, นายเศรษวุฒิ ภูวพงษ์พิทักษ์, นายรัฐวิชญ์ ภูวพงศ์พิทักษ์ เป็นอดีตทหารพรานกรม ทพ.41 อ.รามัน จ.ยะลา และ ส.ต.ท.โรจนิล เอกสมญา ผบ.หมู่ร้อย ตชด.445 อ.เบตง ช่วยราชการในพื้นที่ อ.บันนังสตา
โดยพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายให้ ส.ต.ท.โรจนินทร์ ภูวพงษ์พิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.หมู่ ตรวจคนเข้าเมือง 6 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และบรรจุนายรัฐวิชย์ ภูวพงษ์พิทักษ์ เข้ารับราชการตำรวจตำแหน่ง ผบ.หมู่ประจำ สภ.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อสืบทอดเจตนารมย์ของบิดาในการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพื่อประชาชนและดูแลผู้เป็นแม่ได้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ก่อนที่ พ.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิตไม่ถึง 10 วัน ได้เปิดใจสัมภาษณ์ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” เป็นครั้งสุดท้าย ณ สถานีตรวจยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่พบปะพูดคุยเรื่องงานและให้กำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา และชุดปฏิบัติการพิเศษติดตามไล่ล่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ถึงกรณีการร้องเรียนเรื่องการโยกย้ายนายตำรวจระดับรอง ผบก.-สว. ที่ไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นความหวังว่าจะได้รับรางวัลแห่งความเหน็ดเหนื่อยและตั้งใจทำงาน ด้วยการประจำการ ณ สภ.กันตัง จ.ตรัง ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวบ้างก่อนที่จะเกษียณราชการในปี 2554 แม้ว่าการโยกย้ายในวงการตำรวจจะขึ้นชื่อเรื่องการวิ่งเต้นด้วยเส้นสายและเม็ดเงินก็ตาม แต่ท้ายที่สุดเรื่องกลับไม่ได้รับการพิจารณาและไม่มีการชี้แจงใดๆ
การตัดสินใจร้องเรียนในครั้งนี้ พ.ต.อ.สมเพียร เปิดเผยว่า การร้องเรียนดังกล่าวไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกระจกเงาใบใหญ่สะท้อนการทำงานของตำรวจในพื้นที่สีแดงให้ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงรับรู้ปรับปรุงการทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายท่ามกลางความขาดแคลน และสื่อให้นายกรัฐมนตรีรู้ว่าความจริงว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดอะไรขึ้นกันแน่
การมีโอกาสเข้ามาแก้ปัญหาในพื้นที่ อ.บันนังสตา ในตำแหน่งผู้กำกับของ พ.ต.อ.สมเพียรนั้น ยังคงมีปัญหาหลายด้านรอรับการแก้ไข ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ร่วมปกป้องแผ่นดิน แต่กลับไม่ค่อยได้รับความใจใส่จากผู้ใหญ่ ต้องอาศัยผลงานเข้าร้องขอให้มีการดูแล เช่น เมื่อการทำงานมีประสิทธิภาพตนจึงขอร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบรรจุตำแหน่งให้บ้าง ทั้งที่บางคนมีอายุมากแล้วแต่ยังมีความสามารถก็ หรือบางคนไม่มีความรู้แต่มีผลงานก็ต้องบรรจุ และทีมงานอีกหลายคนไม่มีเงินเดือนไม่มีค่าจ้าง ไม่มีค่าตอบแทน ทำงานกันด้วยใจจริง ๆ สู้เพื่อแผ่นดินตรงนี้
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรื่องการร้องเรียนยังไม่คืบหน้า เขาก็ไม่เคยแสดงความเสียใจแต่ยังปฏิบัติงานเสี่ยงตายในพื้นที่ดังเช่นปกติ แม้ว่าจะถูกกลุ่มก่อความไม่สงบหมายหัวไว้ก็ตาม โดยวันที่ 18 ก.พ.เป็นอีกครั้งหนึ่งถูกกลุ่มคนร้ายได้ลอบวางระเบิดขึ้นหลายจุดในพื้นที่วางแผนให้ พ.ต.อ.สมเพียร นำกำลังเดินทางเข้าไปบริเวณบ้านยีลาปัน หมู่ที่ 11 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา บนถนนสาย 410ยะลา – เบตง จนถูกคนร้ายระเบิดรถยนต์ที่นั่งคันเดียวกันนี้ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย
ครั้งนั้น เขาได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังผ่านนาทีเฉียดตายว่า "ช้ำในมากกว่า เพราะขอย้ายแล้วไม่ได้ย้าย" ก่อนที่จะเป็นข่าวครึกโครมในเวลาต่อมา หลังนำกำลังเข้าไปหาข่าวและพบปะเยี่ยมเยือนชาวบ้านในพื้นที่ และถูกกลุ่มคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ปิกอัพคันเดิม จนขาหักทั้งสองข้างบาดเจ็บสาหัสและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาในที่สุด
สำหรับประวัติโดยสังเขปของ “เสือเฒ่าแห่งบันนังสตา” พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา นั้น เกิดที่ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลาเป็น นรต.รุ่นที่ 15 ร.ร.ตำรวจภูธรภาค 9 ยะลา เมื่อปี 2513 หลังจากจบการศึกษาได้เข้ารับราชการเป็น ผบ.หมู่ ป.สภ.บันนังสตามาตลอด โดยเฉพาะช่วงที่ขบวนการโจรก่อการร้าย ( ขจก.) ปะทุความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ได้ติดตาม พ.ต.ท.สนิท เพียรทอง สวญ.สภ.บันนังสตา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ออกปราบปรามมาตลอด จนสามารถวิสามัญคนร้ายได้ร่วม 100 ศพ เป็นที่หวาดเกรงของพวกคนร้ายถ้วนหน้า
นอกจากนี้ยังมีเหตุต่อสู้เดือดอีกหลายครั้งเป็นระยะ เช่น ราวปี 2519 จ.ส.ต.สมเพียร เอกสมญา ได้ปะทะกับคนร้ายกลุ่มของ นายลาเต๊ะ เจาะบันตัง หมู่ที่ 4 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา พลาดท่าไปเหยียบกับระเบิดคนร้ายจนขาซ้ายหวิดขาด, ปี 2526 ยิงปะทะกับขบวนการโจรก่อการร้าย กลุ่มนายคอเดร์ แกแตะ กับพวกประมาณ 30 คนที่ อำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ถูกยิงที่ต้นขาขวากระสุนฝังใน
จากความเด็ดเดี่ยว และประสบความสำเร็จในการปราบปรามกลุ่มคนร้ายอย่างจริงจัง จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญมาลาเข้มกล้า จนทางกรมตำรวจได้ให้เข้าศึกษาหลักสูตรนายตำรวจเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องสอบ หลังจากจบมาแล้วได้โอนไปสังกัด ตม.ประจำอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา ระยะหนึ่ง แต่ต้องขอย้ายกลับ รับราชการวนเวียนอยู่ในภาคใต้ตอนล่างมาตลอด แต่ไม่วายถูกร้องเรียนจนต้องย้ายออกจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไประยะหนึ่ง
ต่อมาหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 ทำให้ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ถูกเรียกตัวกลับมาปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ.บันนังสตา ในตำแหน่ง ผกก.สภ.บันนังสตา และปี 2550 โดยได้ใช้ประสบการณ์และความคุ้นเคยในพื้นที่แห่งนี้มาก่อน นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นจับกุมคนร้าย และได้มีการปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาร์เคเคที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่มาแล้วจำนวน 9 ครั้ง ทำให้คนร้ายเสียชีวิต จำนวน 22 คน สามารถยึดอาวุธปืนสงคราม และยุทธภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามวางแผนลอบทำร้ายมาโดยตลอด
จากการปฏิบัติหน้าที่อย่างเด็ดเดี่ยว ทำให้ พ.ต.อ.สมเพียร ได้รับพระราชทาน และประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย อาทิ
1.ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นสอง ประเภทหนึ่ง
2.ได้รับประกาศนียบัตร " ผู้มีผลงานสู้รบดีเด่น " จากกระทรวงมหาดไทย
3.ได้รับเข็มรักษาดินแดนสดุดี จากกระทรวงมหาดไทย
4.ได้รับมอบเกียรติบัตรผู้ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติด้วยความเสียสละ จากองค์การทหารผ่านศึก
5.ได้รับประกาศผู้มีผลงานดีเด่นด้านการปราบปราม จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
6.ได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่า โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 ดีเด่น
7.ได้รับหนังสือสำคัญ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) ยกย่องเชิดชู เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน และรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง ด้วยความเข้มแข็งเสียสละ
โดยตลอดชีวิตการทำงานของเขานั้น แทบจะไม่มีวันหยุด และไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวเฉกเช่นคนอื่น ความฝันในชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณว่าจะนั่งกินน้ำชา พูดคุยพักผ่อนเหมือนชีวิตปุถุชนได้จึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่วีระบุรุษผู้นี้ไม่อาจทำได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นดินแดนสนธยาที่มีหลายปมปัญหาถูกโยนใส่จากโครงสร้างตำรวจที่พิกลพิการมาตั้งแต่ก่อน ทั้งการลงโทษข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดให้ลงมาปฏิบัติงาน และเป็นแดนจองจำข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะที่ไม่มีเส้นสายและอำนาจเงินเหมือนดั่ง “จ่าเพียร” แม้จะมีผลงานการันตี และทำงานอย่างถวายชีวิต แต่ผู้บัญชาการระดับสูงกลับเมินเฉยอย่างน่าเสียดาย
แต่การจากไปครั้งนี้ของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ในวัย 59 ปี ได้สร้างคุณูปการและเกียรติประวัติและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง ซึ่งชีวิตจะดับสูญแต่ความดีเหล่านี้จะถูกจารจารึกอยู่ในใจมิรู้ลืม พร้อมกับตอกย้ำให้รัฐบาลได้กลับไปทบทวน เพื่อดูแลสภาพความเป็นอยู่ของข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และรับรู้ปัญหาในการปฏิบัติงานนำไปสู่การแก้ไขเสียที