xs
xsm
sm
md
lg

รมว.สาธารณสุขรวมพลังปราบ"ชิคุนกุนยา"ใน 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน รณรงค์คนไทยไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี และรวมพลัง อสม.จังหวัดตรัง พร้อมต้องหยุดโรคชิคุนกุนยาให้ได้ภายใน 3 เดือน

วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ลานวัฒนธรรม สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 ทุ่งแจ้ง นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน รณรงค์คนไทยไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี และรวมพลังอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จังหวัดตรัง ปี 2552 โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทุกพื้นที่จังหวัดตรังเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 5,000 คน จากสมาชิก อสม.ทั้งหวัด จำนวน 9,560 คน

ทั้งนี้ การจัดงานรณรงค์คนไทยไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี และรวมพลังอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จังหวัดตรังครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างกระแสการรณรงค์โรคอ้วนลงพุง และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่สมาชิก อสม.ในการปฏิบัติงาน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน เนื่องจากแต่ละปีคนไทยเสียชีวิตมากกว่า 120,000 ราย โดยสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด คือ โรคมะเร็ง รองลงมาก คือ โรคหลอดเลือด ความกันโลหิตสูง และการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากการใช้วิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยทางกระทรงสาธารณสุขเลือกจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดนำร่องในการรณรงค์คนไทยไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี โดยผ่านพลังอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปประชุมผู้บริหารสาธารณสุข 14 จังหวัดภาคใต้ ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ โรงพยาบาลตรัง เพื่อตั้งศูนย์สกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมอบหมายให้จังหวัดตรังเป็นผู้ดูแล พร้อมประชุมวางมาตรการป้องกันยุงกัด และมอบอุปกรณ์ควบคุมป้องกันโรค แก่ประธานชมรมสาธารณสุขจาก 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมี ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป อธิบดีกรมในกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง นายแพทย์สุกิจ อัฐโถปกรณ์ สส.ตรัง เขต 1 นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง เขต 2 และนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล สส.ตรัง เขต 2 พรรประชาธิปัตย์ เข้าร่วมในการประชุมวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว ว่า การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในขณะนี้ มีการระบาดหนักในพื้นที่ภาคใต้ และมีแนวโน้มระบาดไปยังภาคอื่นๆ ของประเทศ จากการเดินทางของบุคคลทางภาคใต้ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเร่งดำเนินการตามแนวยุทธศาสตร์ที่รุนแรงและเฉียบขาด ให้โรคชิคุนกุนยาหมดไปได้ภายใน 3 เดือน โดยจะต้องขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันรณรงค์ป้องกันยุงกัด โดยในการประชุมวันนี้ จะหารือถึงเรื่องทำอย่างไรไม่ให้ยุงกัด ซึ่งหากประชาชนไม่ถูกยุงกัดการแพร่ระบาดของโรคก็จะหมดไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคชิคุนกุนยาในแต่ละพื้นที่ ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าได้ผลในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ถือว่าประสบผลสำเร็จ หรือมีประสิทธิภาพมากมาย จึงต้องเร่งดำเนินการหายุทธกหารที่แตกหักของโรคนี้โดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการบริจาคยาฉีดพ่นหมอกควัน ยากันยุง โลชั่นกันยุง ที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยต่อไปสิ่งของต่างๆที่ได้รับบริจาคมานั้น จะนำมาไว้ที่จัวหวัดตรัง เพื่อแจกจ่ายไปยังจังหวัดอื่นต่อไป ขณะนี้ได้รับการบริจาคยาฉีดพ่น และทรายอะเบทมาแล้วกว่า 500,000 รวมทั้ง กรมวิทยาศาสตร์การแพย์ ได้บริจาคยากันยุงมาแล้วจำนวน 50,000 ชิ้น องค์การอาหารและยาบริจาคยากันยุงขด จำนวน 100,000 ขด ซึ่งถือว่าได้รับความร่วมมือในการระดมความช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้ภายใน 3 เดือน โดยจะไม่ให้เลยถึงช่วงของการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ตรังเกมส์ ที่จังหวัดตรังรับเป็นเจ้าภาพอย่างแน่นอน ส่วนในเรื่องของการคัดครองผู้ป่วยนั้น ไม่ควรที่จะมีเพราะไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่น ส่วนยุทธศาสตร์ 4 กำแพง 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสตูลนั้น ยังคงดำเนินการต่อไป ส่วนในเรื่องของงบประมาณที่ว่ามีความขาดแคลนนั้น จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้ว่า มีการกระจายงบประมาณอย่างไรบ้าง และไปติดขัดอยู่ที่ใด

สำหรับ ผลการตรวจเลือดในกรณีของเดือนทารกวัย 6 วัน คือ เด็นชายวรันธร จำนงค์ ที่ เสียชีวิตและต้องสงสัยว่าได้รับเชื้อโรคชิคุนกุนยาจากแม่ที่ป่วยนั้น ปรากฏว่า ทั้ง แม่และเด็กไม่ได้ป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา โดยเด็กเสียชีวิตจากโรคปอด โดยการสำลักน้ำคร่ำในช่วงที่แม่มีไข้ขึ้นสูง ซึ่งได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังคุณแม่ใกล้คลอดและหลังคลอดอยางใกล้ชิด โดยขณะนี้ไม่พบเด็กทารกป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยาแล้วเสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว

ทั้งนี้ ในช่วงที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเข้าห้องประชุมได้มีตัวแทนแพทย์และพยาบาล จากโรงพยาบาลตรัง ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่รัฐมนตรีฯ ถึงเรื่องการเร่งรัดค่าเบี้ยเลี้ยงของบุคลากรโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกระเบียบการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนโดยใช้เงินบำรุง ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าระเบียบดังกล่าวไม่เป็นธรรม และบั่นทอนกำลังใจต่อการทำงานของบุคลากร ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเป็นอย่างมาก จึงยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้เร่งดำเนินการพิจารณาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น