xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคถังแตก! เตรียมของบ 90 ล.สกัด "ชิคุนกุนยา" เผยยอดป่วยมากกว่าที่เสนอ 3 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมควบคุมโรค งานเข้า! โรคระบาดใหม่รุม รับถังแตก ไม่มีงบดูแล ต้องควักงบอนาคตของกรมฯ มาใช้ก่อน เตรียมเสนอของบ 90 ล้าน สกัดโรคชิคุนกุนยา หลังไร้งบป้องกันโรคมานาน ประสานสปสช.ตั้งงบกลางรับมือโรคระบาด เบื้องต้นของงบซื้อยาทากันยุงแจก คาดตัวเลขผู้ป่วยจริงมากกว่าที่รายงาน 3 เท่า ยันไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันชิคุนกุนยา

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรคชิคุนกุนยา ขณะนี้พื้นที่ที่มีการระบาดยังอยู่ใน 14 จังหวัดภาคใต้เช่นเดิม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นขณะที่พื้นที่อื่นนั้นหากผู้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวแล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยยอดผู้ป่วยที่รายงานพบว่ามีประมาณ 20,000 ราย แต่ความจริงเชื่อว่าน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้ประมาณ 3 เท่า เหตุเพราะมีผู้ป่วยบางส่วนเข้ารับการรักษาที่คลินิกหรือซื้อยารับประทานเองทำให้ไม่ได้รับรายงานตัวเลขมายังกรมควบคุมโรค

นพ.มล.สมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมเสนอของบประมาณกลางจากรัฐบาลจำนวน 90 กว่าล้าน เพื่อนำมาใช้ป้องกันการระบาดโรคชิคุนกุนยา เพราะจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อ น้ำยาพ่นกำจัดยุง เครื่องพ่นน้ำยา ทรายอะเบท เสื้อกั๊กชับสารเคมีกันยุง ยาทากันยุง ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อของดังกล่าว ในจำนวนที่เพียงพอจะสามารถสกัดโรคได้ เพราะในปีนี้มีโรคระบาดหลายโรคที่ไม่ได้เสนอของบประมาณไว้รองรับ ทำให้การใช้จ่ายเพื่อป้องกันโรคขณะนี้ ต้องนำงบประมาณจากโครงการอื่นที่กำหนดจะใช้ในช่วงปลายปีมาใช้ล่วงหน้า รวมทั้งเลื่อนยกเลิกการประชุมสัมมนาต่างๆออกไป เมื่อรวมงบประมาณที่จ่ายล่วงหน้าไปประมาณ 200 กว่าล้านบาท

“ถือว่ากรมควบคุมโรคอยู่ในภาวะถังแตก เพราะงบประมาณของกรมที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีจะใช้ในด้านวิชาการ จัดประชุม สัมมนา เตรียมความพร้อมของบุคคลากร ส่วนงบป้องกันโรคปัจจุบันรัฐบาลจะจัดสรรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) แต่เมื่อเกิดโรคระบาด หน่วยงานในแต่ละจังหวัด ก็จะขอความช่วยเหลือมายังกรมควบคุมโรค ซึ่งกรมไม่มีงบประมาณรองรับ แต่ก็ต้องให้ความช่วยเหลือเพราะไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาช่วย จึงเป็นสาเหตุให้มาตรการการสกัดโรคทำได้ไม่สมบูรณ์ โดยในเร็วๆนี้ จะหารือกับ สปสช. เพื่อขอให้ตั้งงบประมาณกลางเพื่อนำมาใช้ในภาวะเกิดโรคระบาด”นพ.มล.สมชาย กล่าว

นพ.มล.สมชาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนโรคชิคุนกุนยา แต่ทราบว่ามีหน่วยงานทางทหารของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวในโลกที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและวิจัยวัคซีนดังกล่าวอยู่ แต่คาดว่าจะใช้เวลาในการคิดค้นอีกนานจึงจะสามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันคือต้องระวังตัวเอง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิดขึ้น ก็จะสามารถช่วยได้ ส่วนไทยมีเพียงการทดลองวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งเป็นของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัทเอกชน ที่ จ.ราชบุรี ซึ่งทำการทดลองถึงขั้นที่ 3 แล้ว คาดว่าประมาณ 2 ปี จึงจะสำเร็จ

นพ.มล.สมชาย กล่าวว่า สำหรับมาตรการสกัดโรคชิคุนกุนยาไม่ให้เกิดการระบาดมากขึ้น กรมควบคุมโรคเตรียมวางแนวป้องกันไม่ให้โรคแพร่เข้ามายังภาคใต้ตอนบน เช่น ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป จะปูพรมในการฉีดพ่นหมอกควันในทุกพื้นที่ทุกสัปดาห์ ซึ่งจะต้องระดมเครื่องฉีดพ่นของกระทรวงสาธารณสุข กทม.และพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 20 กว่าเครื่อง รวมทั้งการโรยทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำยุงลายสวนที่เป็นพาหะของโรค ซึ่งการกำจัดยุงลายสวนมีข้อจำกัดเนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้สารเคมีมีฤทธิ์ในการกำจัดยุงสั้นลง เมื่อฝนตกก็จะหมดฤทธิ์ หรือหากมีลมพัดความหนาแน่นก็จะทำให้ฤทธิ์ในการฆ่ายุงน้อยลง ประกอบกับบ้านเรือนภาคใต้จะอยู่ติดกับสวน เมื่อฉีดไล่ยุงก็จะหนีเข้าสวนและกัดคนเข้าไปกรีดยาง ซึ่งกรมฯไม่มีงบประมาณมากพอที่จะฉีดตามสวนด้วย

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะประสานสปสช. ของบประมาณในการจัดซื้อยาทากันยุงแจกให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ระบาดของโรค

ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคชิคุนกุนยา ระหว่าง 1มกราคม – 25 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาใน 26 จังหวัด รวมทั้งสิ้น จำนวน 22,217 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ในสัปดาห์นี้พบจังหวัดใหม่ที่มีรายงานผู้ป่วย 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี 1 ราย นครปฐม 1 ราย ปทุมธานี 4 ราย เป็นเพศหญิง 58% เพศชาย 42% ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น