ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ตรุดยื่นหนังสื่อผู้ว่าขอให้ชะลอการอนุญาตโครงการก่อสร้างท่าเทียบเดอะมารีน่า
วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายรอฉาด ท่อทิพย์ กำนันตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน 9 หมู่บ้าน และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก บางส่วน ประมาณ 20 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้ชะลอการอนุญาตโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าเดอะยามู ในพื้นที่ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
โดย นายรอฉาด กล่าวว่า หลังจากทราบว่ามีการประชุมคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อเร็วๆ นี้ และในการประชุมครั้งนั้นได้มีการรายงานในตอนหนึ่งว่า เครือข่ายประมงพื้นบ้าน อบต.ป่าคลอก และผู้ปกครองท้องถิ่นมีความเห็นร่วมกันว่าหากผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน IEE ก็ไม่ขัดข้องที่จะให้ดำเนินการ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ดังนั้น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลป่าคลอก 9 หมู่บ้าน และสมาชิก อบต.บางส่วน ที่ได้ประชุมกันและมีคัดค้านให้ชะลอการอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากเกรงผลกระทบที่เกิดขึ้น และยังมีข้อท้วงติงของคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข
ทางด้าน นายวิชัย ได้รับเรื่องไว้ และขอไปตรวจสอบรายละเอียดความชัดเจนที่มาที่ไปของโครงการว่าเป็นอย่างไร เบื้องต้นก็ต้องชะลอการอนุญาตออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการสร้างท่าเทียบเรือมารีน่านั้นได้มีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2550 และขณะนี้โครงการดังกล่าวยังไม่มีการอนุญาตก่อสร้าง แม้ว่าที่ผ่านมาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นจะผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณจังหวัดภูเก็ตไปแล้วก็ตาม
รวมทั้งทางคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจะเห็นชอบในหลักการไปแล้วก็ตาม แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับคนในชุมชน เนื่องจากมีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่บางส่วน
นอกจากนี้ ทางจังหวัดภูเก็ตยังได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า แหลมยามู ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2550
จากการตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ พบว่ามีรายละเอียดในประเด็นที่ไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ จำนวน 13 ประเด็น เช่น ทางเลือกจุดที่ตั้งของโครงการ, รายละเอียดด้านทรัพยากรประมงสัตว์บนดินและสัตว์ทะเลหายาก ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศในบริเวณใกล้เคียง ไม่ได้ระบุองค์ประกอบของตะกอนดินในบริเวณที่จะขุดลอกไม่ได้ระบุพื้นที่และบริเวณหญ้าทะเล ปะการังที่สูญเสียจากการดำเนินโครงการ เป็นต้น