ตรัง - ชาวนาบนเทือกเขาบรรทัดโวยเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องร้องข้อหาทำให้โลกร้อนรวมมูลค่ากว่า 31 ล้าน ด้านหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ย้ำจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก โดยเฉพาะบริเวณเขาบรรทัดขณะนี้มีคดีที่อยู่ในชั้นศาลนับ 100 ราย
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านทั้งจากจังหวัดตรัง พัทลุง และกระบี่ จำนวน 48 ราย ได้ถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งฐานทำให้โลกร้อน รวมมูลค่ากว่า 31 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ข้อหาดังกล่าวเป็นประเด็นสากลที่องค์การสหประชาติได้กำหนดกฎเหล็กขึ้นมา เพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่เป็นตัวการสำคัญปล่อยของเสียต่างๆ จนเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อน ซึ่งต่างไปจากการที่ชาวบ้านเข้าไปปลูกพืชทดแทนในที่ดินทำกินซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าตายาย และปัจจุบันก็เป็นที่ดินที่ทางรัฐบาลเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแล้ว แต่กลับต้องมาถูกทางกรมอุทยานฯ นำข้อหากล่าวหาดังกล่าวมาบังคับใช้
นายเสิด แท่นมาก อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68/6 หมู่ที่ 1 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ซึ่งมีสวนยางพาราที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมา ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลละมอ 9 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา และได้ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547 ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายทางคดีแพ่ง ตามที่กรมอุทยานฯ ฟ้องร้องรวมทั้งหมด 1.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปตรวจดูบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ก็พบว่าอยู่ติดเทือกเขาบรรทัด ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง-พัทลุง สภาพพื้นที่ทั่วไปตลอดเส้นทางแวดล้อมไปด้วยสวนยางพาราและสวนผลไม้ ที่ชาวบ้านแต่ละรายได้ปลูกไว้มานานแล้ว ซึ่งนายเสิด บอกไม่ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาชดใช้ให้กรมอุทยานฯ และขณะนี้ไม่มีกำลังใจที่จะทำมาหากินตามปกติอีกต่อไปแล้ว เพราะกลัวจะต้องสูญเสียที่ดินที่กินที่ทำมาอย่างยาวนานไป
ด้าน นางกำจาย ชัยทอง อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ที่ถือครองที่ดินบนเทือกเขาบรรทัด จำนวน 8 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา และได้ถูกกรมอุทยานฯ เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,306,875 บาท ซึ่งได้เดินทางมาพบกับผู้สื่อข่าวด้วยนั้นก็กล่าวว่า ทุกวันนี้ตนยังคงต้องเข้าไปกรีดยางพาราในที่ดินที่มีข้อพิพาทตามปกติ เนื่องจากยังจำเป็นจะต้องหาเลี้ยงครอบครัว แต่สิ่งที่ตนรู้สึกกลัวที่สุดและทำให้หมดกำลังใจในขณะนี้ก็คือ กลัวถูกยึดที่ดินทำกินไป เพราะจะไม่มีที่ทำกินเพื่อหาเงินให้ลูกเรียนหนังสือและเลี้ยงครอบครัว
ส่วนเงินที่ถูกฟ้องร้องจำนวนมากขนาดนั้นก็คงไม่มีชดใช้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เข้าใจว่าหน่วยงานของรัฐ เอากฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการกระทำให้โลกร้อน มาบังคับใช้กับประชาชนที่ยากจนได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ที่ดินบริเวณนี้พวกตนก็ทำกินมาหลายชั่วอายุคนแล้ว จึงอยากจะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือ
นายคม ชัยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า กฏหมายที่นำมาบังคับใช้จะดำเนินการกับประชาชนที่บุกรุกใหม่หลังปี 2541 เท่านั้น แต่ถ้าเป็นการเข้าไปทำกินก่อนหน้านี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะอนุโลมให้ แต่ได้สั่งไว้ว่าห้ามเข้าไปตัดโค่นป่าเพื่อปลูกพืชผลใหม่โดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม หลังจากกรมอุทยานฯ ได้นำโทษที่สูงมาบังคับใช้ ก็ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่กล้าบุกรุกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะบริเวณเขาบรรทัดขณะนี้มีคดีที่อยู่ในชั้นศาลนับ 100 ราย และตั้งแต่เริ่มดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ มานับตั้งแต่ปี 2546 ปรากฎว่า มีชาวบ้านถูกศาลสั่งบังคับคดีให้จ่ายค่าเสียหายไปแล้วหลายสิบราย ส่วนคดีต่างๆ ที่เหลือก็เริ่มทยอยพิพากษาออกมา ซึ่งแม้โดยส่วนตัวจะไม่อยากดำเนินการใดๆ แต่ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย เพราะยังพบการบุกรุกอยู่ทุกวัน จึงต้องดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง