xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนสนง.เลขาฯอาเซียนพร้อมผู้แทนสมาชิกอาเซียน ศึกษาป่าพรุสิรินธร อ.สุไหงโก-ลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นราธิวาส - คณะผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียนพร้อมผู้แทนสมาชิกอาเซียน ลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร อ.สุไหงโก-ลก หลังอาเซียนใช้ป่าพรุเป็นป่าต้นแบบ

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นายมาเนตร์ บุณยานันท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ได้ให้การต้อนรับ นายศิริ อัคคะอัคร นักวิชาการป่าไม้ ชำนาญการพิเศษกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมคณะผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนจากสมาชิกอาเซียน 7ประเทศ

ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม จำนวน 50 คน ยกเว้นกัมพูชา บรูไน และลาวที่ติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาได้ ทั้งหมดได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการจัดการป่าพรุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเดินทางมาศึกษาดูงานภาคสนามที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ โอกาสนี้ได้มีการสาธิตการทำชาชัก โรตีสลัด และขนมหวานที่ทำจากต้นสาคู และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด จำนวน 60,000 ตัวกลับสู่ธรรมชาติ

นายธนิตย์ หนูยิ้ม นักวิชาการป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ป่าพรุมาก โดยเห็นว่ามีความสำคัญสูงทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นหากมีการบริหารจัดการพื้นที่ป่าพรุที่ผิดพลาด อาทิการเกิดไฟไหม้ป่าพรุก็จะส่งผลต่อเนื่องให้ควันไฟปกคลุมในชั้นบรรยากาศ และเมื่อเกิดในประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะกระทบไปถึงประเทศข้างเคียง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชากรของภูมิภาค และเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมขยายวงกว้างไม่มีสิ้นสุด

จากนี้ไปประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงรุก แบบระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ป่าพรุร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรม ปัญหาทุกด้านที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าพรุในอนาคตก็จะลดลงจนสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วในระดับพื้นที่

นายมาเนตร์ บุณยานันท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยยังคงมีป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และเป็นที่น่ายินดีว่าผู้แทนจากหลายประเทศที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ป่าพรุแห่งนี้ให้ความสนใจในการเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีประชาชนรอบป่าพรุเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่

ทั้งนี้สำหรับศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ในปัจจุบันได้ขยายเส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าพรุโดยใช้เรือคายัคซึ่งเป็นมิติใหม่ของการศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ นอกเหนือจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติพิพิธภัณฑ์สาคูที่มีระยะทางกว่า 920 เมตร รวมถึงการจัดระบบการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนทั้งในพื้นที่ และจากประเทศเพื่อนบ้านสนใจมาเยี่ยมชมมากขึ้น








กำลังโหลดความคิดเห็น