xs
xsm
sm
md
lg

เสียง “สุข” จากปัตตานี ในวันที่ชายแดนใต้มิกสัญญี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิมพกานต์ ใบระหมาน นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี  กับภาพเก่าที่น่าตื่นตาตื่นใจ
รายงานพิเศษโดย....กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

จากกรณีที่คนร้ายบุกเข้าไปในมัสยิดและใช้อาวุธสงครามกราดยิงขณะกำลังทำพิธีละหมาด ที่ ต.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับพี่น้องมุสลิมและชาวไทยทั้งประเทศนั้น เชื่อว่า คงมีหลายคนตั้งคำถามในใจว่า เกิดอะไรขึ้น และเมื่อไหร่ความรุนแรงจะจบลงเสียที
ในบ้านภาพเก่าเล่าเรื่องซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนมาก
อย่างไรก็ดี ในขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งคลี่คลายปัญหา ก่อนหน้านี้ ไม่นานนักมีปรากฏการณ์หนึ่งที่ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็นเกิดบนถนนสายบุรี ถนนเดชา และถนนรินทราช อ.เมือง จังหวัดปัตตานี นั่นก็คือ การจัดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมปัตตานีย้อนยุคสู่สันติสุขแดนใต้” ที่ทำให้ปัตตานีกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากไร้งานรื่นเริงมานาน

บรรยากาศในวันนั้นระบายด้วยรอยยิ้ม คลอเคล้าด้วยเสียงจากการแสดงดิเกฮูลู มโนราห์ รำตาลีกีปัสเป็นระยะๆ สลับกับเสียงของคนในพื้นที่ออกมาจับจ่ายใช้สอย และเที่ยวชมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง สินค้าพื้นเมือง เช่น เสื่อกระจูด ผ้าโสร่ง ขนมและอาหารพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็น ขนมโค ขนมนมสาว สะแซ ไก่กอและ หรือแม้แต่ชาชักที่ขายเกลี้ยงแทบทุกร้าน
ในบ้านภาพเก่าเล่าเรื่องซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนมาก
“มนัส ยศศิริ” ชาวอำเภอปะนาเระ ให้ความเห็นว่า เป็นครั้งแรกที่ปัตตานีมีงานใหญ่แบบนี้ รู้สึกว่าดีมากที่มีงานย้อนยุคเพราะเห็นแล้วดูคนในพื้นที่มีความสุขมาก เพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ออกมาพบปะกันระหว่างพี่น้องปัตตานีให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งตนได้นำของดีประจำอำเภอมาแสดงกรรมวิธีและจำหน่ายในงานนี้ด้วยนั่นคือ “น้ำผึ้งแว่น” ซึ่งหาชมและเริ่มหาชิมได้ยากมากในปัจจุบัน ปรากฏว่าขายดี และได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนมาก

ด้าน “อรรถธิป ปรัชญาประทีป” ครูโรงเรียนชุมชนบ้านยูโย ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างห่างออกไปจากอำเภอเมือง บอกว่า แม้แดดจะร้อนในตอนกลางวัน แต่เมื่อมองดูสีหน้าของผู้คนที่ร่วมงานจะเห็นยิ้มระบายและความสุข ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้ย้อนความสุขเมื่อครั้งอดีต เด็กๆ ก็ดีใจเช่นกันที่ได้เห็นพัฒนาการของจังหวัดที่พวกเขากำเนิด เช่น การนำภาพเก่าหายากมาจัดแสดงให้ชมนั้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวของปัตตานีได้ดี อย่างน้อยก็ได้เห็นพ่อเมืองของปัตตานีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และรู้เรื่องของมัสยิดกรือเซะที่อายุกว่า 200 ปี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลามเก่าแก่นี้ด้วย

“เมืองปัตตานีเป็นเมืองเก่าแก่ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่พี่น้องชาวพุทธและมีเชื้อสายจีนอยู่ด้วย วัฒนธรรมของพวกเราจึงหลากหลาย แม้ว่าตอนนี้จะมีเหตุการณ์ที่คนภายนอกมองว่าน่ากลัว จริงๆ แล้วสิ่งที่ชาวปัตตานีอยากบอก ก็คือ แค่มีคนมาเยี่ยมพวกเรา หรือจัดมีงานแบบนี้บ้างปีละครั้งก็ยังดี ชาวปัตตานีก็มีความสุขมากแล้ว”
ในบ้านภาพเก่าเล่าเรื่องซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนมาก
ส่วน “พิมพกานต์ ใบระหมาน” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี ผู้สนใจนิทรรศการกาลภาพเก่าเล่าเรื่อง ท่าทีที่ตื่นตะลึงกับภาพผังเมืองเก่าของเมืองปัตตานี ซึ่งต่างจากบ้านที่เธออยู่ในปัจจุบัน ก็บอกว่า ภาพที่ปรากฏเหล่านี้หาดูได้ยากมาก เมื่อมาเห็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่ทำให้ชาวบ้านตื้นตันใจ อีกทั้งชาวปัตตานีหลายๆ คนยังไม่มีโอกาสได้เห็นภาพการเสด็จประพาสเมืองปัตตานีของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์มาก่อน

การได้มาสัมผัสบรรยากาศเหล่านี้ ยิ่งทำให้รักและเทิดทูนสถาบันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม งานรื่นเริงที่ชาวปัตตานีพร้อมใจกันออกมาจากบ้านเพื่อดื่มด่ำความสุขในช่วงสุดสัปดาห์นั้นเป็นช่วงเวลาที่หาได้ยาก ทุกคนจึงพยายามเก็บเกี่ยวความสุขให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“งานนี้ทำให้หนูรักปัตตานีมากขึ้น และอยากบอกกับเพื่อนข้างนอกว่า ที่นี่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้ามีคนมาเที่ยวกันเยอะๆ ก็อยากพาไปเที่ยว”

ขณะที่ “ธีรเทพ ศรียะพันธ์”ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวยืนยันเมื่อจบงานว่า ความรุนแรงในปัตตานีน้อยลงเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันทำให้งานเห็นผลว่า การใช้มิติทางวัฒนธรรม สามารถสร้างรอยยิ้ม และสร้างความสามัคคีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจกันทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน หรือระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านเองก็ตามที

“ผมคิดว่าการนำมิติทางวัฒนธรรมมาสร้างสันติสุขให้พื้นที่ สามารถทำให้จริง และเห็นผลเป็นรูปธรรม จากการจัดงานมหกรรมปัตตานีครั้งนี้ทำให้ประชาชนตื่นตัว ในยามค่ำคืนก็ออกมาใช้ชีวิตกันตอย่างคึกคัก ออกมาเที่ยวงานวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก” ผู้ว่าฯ ปัตตานีสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น