xs
xsm
sm
md
lg

ปีนัง (2) พลังแห่งศรัทธา เสน่หาของน้ำใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : The Minnie
ก๋วยเตี๋ยวเลือกได้ ต้องการอะไรในชามชี้สั่งตามใจ
หลังจากทักทายเมืองหลวงแห่งรัฐปีนังในยามค่ำแรกพบด้วย “เส้นทางสายมรดก” ที่สมัยอาณานิคมทิ้งตกทอดไว้พอหอมปากหอมคอแล้ว วันรุ่งขึ้นพวกฉันเตรียมแผนการมุ่งหน้าออกจากกลาง “จอร์จทาวน์” เพื่อชมวัดวาอารามตามแบบพุทธศาสนา ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของแต่ละเชื้อชาติ “ไทย-จีน-พม่า”

กองทัพเดินด้วยท้องฉันใด กองเที่ยวอย่างพวกฉันก็ต้องการให้ท้องอิ่มยิ่งกว่าออกรบฉันนั้น เผอิญว่าที่บ้านท่านเจ้าคุณไม่มีอาหารเช้ายกสำรับจัดเสิร์ฟแบบสมัยร้อยปีก่อน ทำให้พวกฉันต้องออกเดินทางแต่เช้าตรู่เพื่อเติมพลัง

บน “ถนนปีนัง” แม้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในยามค่ำคืน แต่ในช่วงเช้าก็มีร้านอาหารเปิดอยู่เป็นระยะๆ ทั้งอินเดีย ทั้งจีน แต่สมาชิกได้ลิ้มอาหารอินเดียไปแล้วเมื่อคืน บางคนที่พลาด “ทันดอรีชิกเก้น” ไป ถึงกับส่ายหน้าว่าไม่เอาอินเดียนแล้วดีกว่า (ยกเว้นโรตีทิชชู่ ที่ขอสู้ชิมไม่มีถอย)
“นาซิ เลมัก” อาหารเช้าที่กินได้ทั้งวัน
เช้านี้จึงประเดิมด้วยอาหารแนวจีน-มาเลย์กันดู พวกฉันเลือกเดินเข้าร้านที่ไกลจากที่พักไม่กี่คูหา เพราะว่ามีแรงดึงดูดใจจากแผง “ก๋วยเตี๋ยว” หน้าร้าน ที่แม่ค้าต้มน้ำซุปร้อนๆ ไว้ แล้วรอให้ลูกค้าอย่างพวกเรา เลือกวัตถุดิบที่วางเรียงรายอยู่ด้านหน้าตามความต้องการ มีทั้งเต้าหู้นานาชนิด ลูกชิ้นแบบต่างๆ เนื้อสัตว์ ผักสด สาหร่าย

อยากให้ก๋วยเตี๋ยวถ้วยนั้นมีอะไรบ้างก็เชิญชี้นิ้วสั่งกันไปได้เลย

ส่วนราคาก็คิดตามส่วนผสมที่เลือกกัน โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 2-5 ริงกิต ชามไหนเน้นเต้าหู-ผักก็ถูกหน่อย ส่วนชามที่แพงก็คือหนักเนื้อสัตว์ (เมื่อนำ 10 คูณออกมาเป็นเงินไทย ชามละ 20-50 บาทก็ถือว่าคุ้มอิ่มกันเลย)

การได้เลือกกินในสิ่งที่ต้องการ และได้จับโน่นผสมนี่ด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่สนุกถูกใจยิ่งนัก แถมแม่ค้าก็ใจดีอีก ให้เลือกเข้าเลือกออกกันตามสบาย พูดไทยได้ไม่กี่คำ และพยายามจะถามจากพวกฉันอีกว่า อาหารต่างๆ ที่ขายอยู่ในร้านเรียกเป็นภาษาไทยว่าอะไรบ้าง
รถเมล์ปีนัง ยังใหม่และสะอาด
เฮฮากันเพลินจนลืมถามว่า เมนูนี้มีชื่อมาเลย์หรือจีนอย่างไร ฉันเลยตั้งชื่อกันเองว่า “ก๋วยเตี๋ยวเลือกได้”

แม้ก๋วยเตี๋ยวเลือกได้จะชามใหญ่เพียงใด แต่ “นาซิ เลมัก” ก็ถือว่าเป็นไฮไลต์อาหารเช้าของมาเลย์ มาทั้งทีไม่ควรที่จะพลาด “นาซิ เลมัก” หรือ “ข้าวมัน” กินคู่กับซอสเผ็ด (ซึ่งส่วนใหญ่จะแถมเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมมาด้วย) และยังนิยมแกล้มกับปลาเล็กปลาน้อย ไข่ต้ม ถั่วลิสงคั่ว จริงๆ แล้วดั้งเดิมจะห่อใบตอง ซึ่งยุคใหม่ก็มีใบตอง แต่รองจานมาประหนึ่งของประดับ

“เตห์ตะริก” หรือ “ชาชัก” เป็นเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้ในทุกมื้อ แต่เช้าๆ แบบนี้ฉันขอเพิ่มคาเฟอีนขึ้นมาอีกสักที่เป็น “คาพิโอ” ก็คือ “โอเลี้ยง” ซึ่งมันคือกาแฟใส่น้ำแข็ง และจากการพิสูจน์ของหวานหลายแห่ง มีบทสรุปส่วนตัวได้ว่า ผู้คนที่อยู่บนดินแดนน้ำเค็มล้อมรอบแห่งนี้ไม่ค่อยบริโภครสหวาน
มองจากประตู “วัดไชยมังคลาราม” จะเห็นวัดพม่าอยู่ตรงข้าม
อิ่มใหญ่กันไปแล้ว ได้ฤกษ์เดินทางกันเสียที

แหล่งท่องเที่ยววันนี้ไกลจากตัวเมืองไปหน่อย ทำให้ “รถเมล์” กลายเป็นยานพาหนะคู่ชีพของพวกฉัน และ “คอมทาร์” (Komtar) ก็ประหนึ่งเส้นสตาร์สของพวกเรา

“คอมทาร์” คืออาคารสูงที่สุดในปีนัง มองจากทางไหนก็เห็นเด่นเป็นสง่า และคอมทาร์ก็ยังเป็นท่ารถเมล์สายต่างๆ เรียกได้ว่า ใครจะขึ้นสายใดไปไหนให้ไปตั้งต้นตรงนั้นกันได้เลย

แม้จะรู้สายรถเมล์สู่ปลายทางกันอยู่แล้ว ตามแผนที่ของการท่องเที่ยวมาเลย์ที่ให้รายละเอียดไว้ จึงได้หาป้ายขึ้นแถวๆ นั้น แต่ปรากฏว่าเราก็หนีไม่พ้น “คอมทาร์” ท่ารถของเมืองเข้าจนได้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร รถก็ต้องวนมาที่คอมทาร์ก่อนพาออกจากกลางเมือง

“รถเมล์ปีนัง” สะอาดเอี่ยม แอร์เย็นฉ่ำ ด้านในคล้ายๆ รถเมล์เหลืองรุ่นใหม่ของบ้านเรา มีพนักงานขับรถควบตำแหน่งพนักงานเก็บเงิน คล้ายกับรถเมล์ในหลายๆ ประเทศ และที่สำคัญกรุณาเตรียมเงินให้พอดีเพราะไม่มีการทอน
“พระพุทธชัยมงคล”
พวกฉันไม่รู้มาก่อนว่ารถเมล์ที่นี่ไม่ทอนเงิน การโดยสารเที่ยวแรกจึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล เพราะเพิ่งมาอยู่ไม่กี่ชั่วโมงมีแต่แบงค์ใหญ่ ทำเอาต้องยืนบวกเลขนับเศษกับค่ารถคนละ 1.40 เหรียญกันที่ตู้หยอดเงินให้เรียบร้อยครบถ้วน ก่อนจะได้รับตั๋วจากมือคนขับ

ระยะทางจากคอมทาร์สู่เป้าหมายแรกไม่ไกลกันนัก แต่ระยะเวลาที่รถเมล์จอดแต่ละป้ายนั้นนานพอควร เพราะคุณพี่คนขับพยายามจัดสรร ให้ทุกคนได้โดยสารไปพร้อมๆ กัน คนที่มีเงินไม่พอดีถูกสั่งให้แยกตัวออกมา รอท่าว่าผู้โดยสารคนถัดๆ ไป จะเผื่อแผ่แลกเหรียญกันได้หรือไม่

ฉันอมยิ้มกับเพื่อนๆ นั่งดูกรรมวิธีเก็บตังค์ที่เสียงดังล้งเล้ง แอบลุ้นให้การบวกลบคูณหารระหว่างผู้โดยสารลงตัว กว่าจะผ่านไปได้แต่ละป้ายก็เลยใช้เวลาพอควร แต่นับเป็นช่วงเวลาที่ฉันได้เห็นวิถีที่เอื้อเฟื้อใส่ใจกัน
การจุดเทียนน้ำมันเป็นการบูชาแบบจีน
คราวนี้ได้เวลาแบ่งปันมาถึงนักท่องเที่ยวอย่างพวกฉันกันบ้าง เมื่อคนขับหยุดที่ป้ายหน้าสถานีตำรวจบน “ถนนพม่า” แล้วหันมาบอกพวกเราให้เข้า “ซอยพม่า” ที่ข้างสถานีนี้ เพื่อจะไปเที่ยววัดไทย

“อ้าวแล้ววัดไทยทำไมอยู่บนถนนพม่า”

วัดไทยที่เรากำลังจะไป คือ “วัดไชยมังคลาราม” สร้างขึ้นในปี 1845 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดพม่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1803 วัดพม่ามาก่อนเลยครอบครองชื่อถนนไป แต่เราอย่าได้น้อยใจ เพราะถัดไปอีก 2-3 บล็อกมีซอยชื่อ “บางกอก” ให้คนแบ๊งค่อกไปถ่ายรูปกับป้ายเป็นที่ระลึก

มาถึงปีนัง ยังจะมาเที่ยววัดไทย (ทำไมกัน?)
มังกรหน้าวัดไทยที่คาบลูกแก้วเหมือนในวัดจีน
ก็เพราะที่วัดแห่งนี้มีพระประธานปางไสยาสน์ที่ยาวถึง 33 เมตร นับเป็นพระนอนที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จประพาสวัดแห่งนี้เมื่อ 47 ปีก่อนและได้ทรงถวายพระนามพระประธานว่า “พระพุทธชัยมงคล”

วัดไทยแห่งนี้เน้นสีสันจัดจ้านแปลกตา แม้ซุ้มประตูจะประดับภาษาไทยและเขียนกำกับว่าวัดไทย แต่เมื่อเดินเข้าไปภายใน อาจเกิดอาการสับสนเล็กน้อย มีทั้งพญานาคและมังกรในแบบจีน รวมถึงยักษ์หลายตนก็หน้าตาออกพม่า ลวดลายต่างๆ ก็ดูเรียบๆ ต่างจากวัดบ้านเราที่เน้นสีทองและความอ่อนช้อย

ฉันว่าน่าจะเป็นเพราะบริษัทอินเดียตะวันออกของพระราชินีวิกตอเรียผู้สร้างวัดแห่งนี้ ในตอนนั้นยังไม่คุ้นเคยกับความเป็นไทยเท่าใดนัก (แม้ว่าเดิมทีเกาะปีนังก็คือ “เกาะหมาก” ที่เคยเป็นของไทยก็ตาม) จึงได้รับแต่อิทธิพลของคนพม่าและจีนเป็นส่วนใหญ่
พระยืนใน “วัดธรรมิการาม” พร้อมกรอบประตูฉลุไม้สักทองและทาสีทอง
ชาติพันธุ์ของผู้คนที่เคยอยู่แถวนี้แสดงเด่นขึ้น เมื่อพวกฉันเดินเข้า “วัดธรรมิการาม” ที่ซุ้มประตูประชันอยู่ตรงข้ามกับวัดไทย วัดพม่าแห่งนี้เน้นการประดับตกแต่งด้วยไม้สักฉลุตามสไตล์พม่าไม่ผิดเพี้ยน

องค์พระประธานของวัดธรรมิการามเป็น “พระยืน” องค์ใหญ่สร้างจากหยกสีขาว เห็นแล้วเย็นสบาย และยังมีพระพุทธรูปปางต่างๆ สร้างจากหินอ่อนประดิษฐานอยู่ เหมือนในโบสถ์วัดไชยมังคลาราม แต่ว่าคำเรียกชื่อปางต่างกันออกไป
เจดีย์หมื่นพระพุทธ อยู่บนยอดเขามีสถาปัตยกรรมแบบไทยอยู่ส่วนกลาง
หลังรับน้ำมนต์และสนทนากับพระพม่าสักครู่ พวกฉันก็ออกเดินทางสู่วัดที่สามตามโปรแกรม ซึ่งอยู่คนละทิศกับวัดไทยและพม่า นั่นทำให้เราต้องไปตั้งต้นที่คอมทาร์อีกครั้ง

“เก็ก ลก ซี” (Kek Lok Si) เป็นวัดเจ้าแม่กวนอิม ที่สาวปีนังใจดีพยายามให้ฉันออกเสียงตาม เมื่อไถ่ถามเส้นทางบนรถเมล์ แถมยังพาพวกฉันลงรถ เลาะเข้าเส้นทางลัดสู่คอมทาร์แบบประหยัดเวลา พร้อมพาขึ้นรถที่ถูกสาย และคุยฝากฝังกับคนขับกำชับให้ส่งพวกฉันลงตรงป้ายเชิงเขาทางเข้าวัด
เต่ามากมายสมเป็น วัดเขาเต่า
น้ำใจที่หาได้ระหว่างทางแบบนี้ คนต่างถิ่นอย่างฉันประทับใจปีนังมิรู้ลืม

กว่าเราจะไปถึงวัด ถนนหนทางก็ชุ่มโชกตอกย้ำสภาพอากาศฝนชุกเกือบตลอดปีของปีนัง แต่โชคดีที่ระหว่างทางสู่ยอดเขา เราได้อาศัย “อุโมงค์ตลาด” เป็นขั้นบันไดนับร้อยที่มีหลังคาและเต็มไปด้วยร้านค้าของที่ระลึก ทำให้เดินได้เพลินจนลืมเหนื่อย

เกือบปลายทางบันไดก่อนเข้าวัด มีบ่อน้ำเต็มไปด้วยเต่า นี่จึงเป็นที่มาของ “วัดเขาเต่า” ที่คนไทยตั้งชื่อเรียกไว้ให้เหมาะเจาะ
ทางเดินขึ้นวัดเขาเต่าที่เต็มไปด้วยของขาย
บนยอดเขามี “เจ้าแม่กวนอิม” องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ พร้อมด้วยสัญลักษณ์ของเมืองแห่งนี้ คือ “เจดีย์หมื่นพระพุทธ” ซึ่งเป็นเจดีย์ 7 ชั้นที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมจีน (ที่ฐาน) ไทย (ส่วนกลาง) และ พม่า (ส่วนยอด) เข้าด้วยกัน

เชื่อกันว่า เพราะรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสและทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้กับวัดแห่งนี้ นั่นจึงทำให้มีสถาปัตยกรรมไทยร่วมไปในเจดียสถานแห่งนี้ด้วย
คอมทาร์ ตึกทรงกลมสูงๆ มองจากถนนปีนัง
วัดเจ้าแม่กวนอิมแห่งนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์

วันนี้พวกฉันตระเวนเที่ยวแต่วัด ที่มีดีกรีว่าใหญ่โตอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้งพระนอนไทย พระยืนพม่า เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ ไม่ใช่เพราะชอบของใหญ่โตเด่นดังเป็นพิเศษ เพราะบางครั้งการสร้างอะไรใหญ่ๆ ก็ใช่ว่าเพียงต้องการโอ้อวด แต่ยังแฝงไว้ด้วยพลังแห่งศรัทธา ที่ต้องการแสดงคุณค่าแห่งศาสนาให้คนรุ่นหลังได้ตระหนัก
โรตีทิชชู่ ของหวานถูกปาก
การเดินทางที่ไม่เร่งรีบ ทำให้ฉันและเพื่อนๆ ได้นั่งพัก ผ่อนกายผ่อนใจในแต่ละวัด ฟังเสียงสวดมนต์ พิจารณาปติมากรรมศักดิ์สิทธิ์ ดูชีวิตผู้คนที่วนเวียนมาไหว้พระ รู้สึกโปร่งโล่งสบายใจ เมื่อได้สูดบรรยากาศแห่งความสงบ

เมื่อเช้าอิ่มใหญ่ บ่ายนี้อิ่มใจ ป้ายต่อไปเตรียมอิ่มวิวที่ “ปีนังฮิลล์” ตามไปขึ้นรถรางกันได้ในสัปดาห์หน้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น