นครศรีธรรมราช – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงนโยบาลการพัฒนาโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประชาชนในตำบล ลดปัญหาความผู้ป่วยแออัดในโรงพยาบาล พร้อมเผยโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ภาคใต้ระบาดหนักเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมนายแพทย์สาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์รวมทั้งโรงพยาบาลทั่วไป 14 จังหวัดภาคใต้กว่า 500 คน เพื่อชี้แจงนโยบาลการพัฒนาโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประชาชนในตำบล ลดปัญหาความผู้ป่วยแออัดในโรงพยาบาล ลดจำนวนการเจ็บป่วยของประชาชน โดยมีการคัดเลือกสถานีอนามัยที่มีความพร้อม เริ่มดำเนินการนำร่องก่อนจำนวน 2,000 แห่ง อย่างน้อยจะมีสถานีอนามัยที่พร้อมอำเภอละ 1 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะดำเนินการภายในปี 2552-2553 นี้
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การดำเนินงานสิ่งต้องทำระดับแรกคือ การรักษาพยาบาลอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยในชุมชนหมู่บ้าน โดยจะส่งเจ้าหน้าที่พยาบาลที่มีประสบการณ์จากอำเภอเข้าไปประจำอยู่อย่างน้อย 3 คน และจะมีการสร้างระบบออนไลท์ระหว่างสถานีอนามัยกับโรงพยาบาลอำเภอ ผู้ป่วยจะได้รับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยออนไลท์ทางคอมพิวเตอร์เหมือนกับรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอทุกอย่าง ส่วนผู้ป่วยอาการหนักก็จะมีรถนำส่งไปยังโรงพยาบาลอำเภอต่อไป ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ดำเนินการเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยตรง และในระยะยาวจะดำเนินการ 9,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ
นายวิทยายังกล่าวถึงการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ภาคใต้ว่า โรคนี้กระทรวงสาธารณสุขติดตามมาตลอด เคยระบาดหนักเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน แต่ก็หายไปจนกระทั่งมาเกิดสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าเดิม ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ ปวดตามข้อ เหมือนโรคไข้เลือดออก ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาโรคนี้ตามอาการ ส่วนสาเหตุที่ระบาดมากในภาคใต้เพราะเป็นพื้นที่สวนเป็นส่วนใหญ่ พาหนะนำโรคก็คือยุง ทำให้เกษตรกรที่ทำสวนประสบปัญหาเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดขึ้นมากใน 5 อำเภอ อย่างไรก็ตาม ทางสาธารณสุขจังหวัดก็เข้าไปให้การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรคือเข้าไปพ่นสารเคมีกำจัดยุงแล้ว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานป้องกันเกี่ยวกับการระบาดของโรคชิคุนกุนยานั้น ตนได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีรับผิดชอบในการรณรงค์ปราบปรามยุงในพื้นที่ภาคใต้ทุกจังหวัด คาดว่าจะสามารถลดจำนวนยุงลงได้แน่ แต่ที่สำคัญภาคประชาชนต้องให้ความร่วมมือในการร่วมกันรณรงค์ป้องกันโรคดังกล่าวด้วย ส่วนในจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นได้ส่งรถกำจัดยุงเข้ามาให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว 2 คันตามที่ ส.ส.ในพื้นที่ขอมา ซึ่งโรคชิคุนกุนยานั้นเกิดจากยุง ในเมื่อไม่มียุง โรคนี้ก็จะไม่เกิด