ตรัง – สาธารณสุขจังหวัดตรังยืนยันสามารถควมคุมโรคชิกุนคุนยาได้ หลังพบผู้ป่วยในจังหวัดตรังเพียง 220 คนเท่านั้น พร้อมประชาชนมีความตื่นตัวในการป้องกันตัวเอง
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง นายแพทย์วิฑูรย์ เหลืองดิลก ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน 9 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่จากสถานีอานามัย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ ทั้ง 10 อำเภอ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคไข้ญี่ปุ่น ที่กำลังแพร่ระบาดในหลายพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งจากการรายงานการแพร่ระบาดของโรค ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่จังหวัดตรังมีผู้ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยาแล้ว จำนวน 220 ราย
ทั้งนี้ มีการระบาดของโรคในพื้นที่ 9 อำเภอ พบมากที่สุด คือ พื้นที่อำเภอเมือง อำเภอย่านตาขาว อำเภอนาโยง อำเภอปะเหลียน อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ อำเภอสิเกา และอำเภอหาดสำราญ ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 35-44 ปี รองลงมาอายุ 10-14 ปี อายุ 25-34 ปี และอายุ 45-54 ปี แต่ยังไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดตรังพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยานับ 1,000 รายนั้น ไม่เป็นความจริง
เนื่องจากอาการของโรคชิคุนกุนยามีความใกล้เคียงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออกสายพันธุ์แดงกี่ โดยที่อาการของโรคชิคุนกุนยา คือ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน มีผื่นหนาขึ้นตามตัว โดยเฉพาะบริเวณหลังและแขน ขา ร่วมกับการปวดข้อต่างๆ เช่น ข้อมือ ข้อนิ้ว ข้อเท้า ซึ่งการวินิจฉัยโรคต้องตรวจอย่างละเอียด ดังนั้น ทำให้ประชาชนที่มีอาการเบื้องต้นดังกล่าว ที่มีความนิยมหาซื้อยากินเองตามร้านขายยาต่างๆ จึงได้รับการวินิจฉัยจากร้านยาว่า ป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา จนกลายเป็นจำนวนผู้ป่วยมีมากหลายร้อยคนในแต่ละหมู่บ้าน
นายแพทย์วิฑูรย์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุด คือ กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย โดยทุกคนจะต้องช่วยกันด้วยการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทุก 7 วัน และป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ด้วยการทายากันยุง นอนกางมุ้ง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง จะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกให้ความรู้แก่ประชาชนแบบเคาะประตูบ้าน พร้อมกับการฉีดพ่นหมอกควันเพื่อทำลายยุงตัวแก่ให้หมดไป พร้อมกับจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ ออกให้ความรู้ ความเข้าใจโรค แก่ร้านขายยาทุกแห่ง พร้อมย้ำการจ่ายยา ที่ไม่ส่งผลอันตรายแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของเสตรอย์ส และตัวยาแอฟไพริน ที่ผู้ป่วยไม่ควรรับประทาน เพราะอาจส่งผลแก่ชีวิตได้
นอกจากนี้ พบว่าประชาชนชาวตรังส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวในการป้องกันโรคชิคุนกุนยา ด้วยการหาซื้อโลชั่น และยากันยุงเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น หลังจากมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา ที่มียุงลายเป็นพาหะ นายทวีป บุรพเกียรติ เภสัชกรประจำร้ายขายยาแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลนครตรังกล่าวว่า ในช่วงนี้มีประชาชนมาซื้อยาลดไข้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยาที่ประชาชนมาหาซื้อส่วนใหญ่ จะเป็นแก้หวัด หรืออาการของไข้หวัดธรรมดา แต่หากพบผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างหนัก จะมีการแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลมากกว่าการซื้อยารับประทานเอง แต่ส่วนใหญ่ช่วงนี้ประชาชนจะหาซื้อยากันยุง หรือโลชั่นกันยุงมากกว่า ซึ่งถือเป็นการตื่นตัวในการป้องกันโรคของประชาชน หลังจากกระแสข่าวโรคชิคุนกุนยามีการแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงนี้