ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ผลประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง สรุปจะมีการเปิดเดินรถไฟในวันที่ 23 เม.ย.โดยเปิดให้บริการแค่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ถึงสถานีรถไฟยะลาเท่านั้น ส่วนจากสถานียะลาถึงสถานีสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่สุดจะต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
ความคืบหน้าการแก้ปัญหาการเดินรถไฟในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหยุดวิ่งติดต่อกันมาร่วมสองสัปดาห์ หลังเกิดเหตุลอบยิงขบวนรถไฟในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่10 เมษายนที่ผ่านมาทำให้พนักงานรถไฟเสียชีวิต 1 คน
ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปทั้งในส่วนของการเปิดเดินรถ และมาตรการรักษาความปลอดภัย หลังจากที่เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (21 เม.ย.) พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) ได้ประชุมร่วมกับ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหารและ อส.ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่
ในส่วนของการเปิดเดินรถไฟในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 23 เมษายนนี้ แต่จะเปิดให้บริการแค่สถานีรถไฟหาดใหญ่ถึงสถานีรถไฟยะลา เท่านั้น ส่วนจากสถานียะลาถึงสถานีสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่สุดจะต้องรอความชัดเจนในการส่งกำลังเข้าไปดูแลความปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยการเดินรถไฟในพื้นที่ ในระยะสั้นกำลังทหารจะเข้าไปเสริมในพื้นที่เสี่ยงทั้ง 7 จุดทันที และจะเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดเหตุมากที่สุด เช่น พื้นที่บ้านสโลว์กะแด๊ะ บ้านตราแด๊ะกะแด๊ะ บ้านสโลว์บูกิตยือแร ซึ่งเป็นพื้นที่สูงชันรถไฟต้องวิ่งช้า และสะพานสถานีบาลอซึ่งข้ามแม่น้ำปัตตานี
ส่วนมาตรการระยะยาว นอกเหนือจากการวางกำลังตำรวจรถไฟ ทหาร และอส.รถไฟทั้งบนขบวนรถ สถานี และลาดตระเวนเส้นทางแล้ว จะประสานพลังมวลชนทั้งผู้นำท้องถิ่น ชรบ.และชาวบ้านในหมู่บ้านที่อยู่สองข้างทางรถไฟมาช่วยดูแลอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับฝ่ายความมั่นคงในเรื่องที่รถไฟเสนอ เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องแจ้งข่าวให้รถไฟทราบทันทีกรณีที่มีข่าวว่าจะมีการก่อเหตุร้าย จะต้องมีการใช้วิทยุติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงานบนรถกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ตลอดการเดินรถในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน