xs
xsm
sm
md
lg

กระบี่ดีเดย์ปิดอ่าวช่วงฤดูปลาวางไข่ 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - จังหวัดกระบี่ดีเดย์ประกาศปิดอ่าวช่วงฤดูปลามีไข่-วางไข่ 3 เดือน เพื่อป้องกันปลามีไข่ถูกจับก่อนได้วางไข่

วันนี้ (30 มี.ค) ที่สวนสาธารณธารา เขตเทศบาลเมือง จ.กระบี่ ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธาน “พิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ประจำปี 2552” โดยมี นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายมานิต ดำกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ นายพิงค์พงค์ วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการด้านการประมง และกลุ่มชาวประมงร่วมในพิธี

ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 1 เดือนเมษายน ถึง 30 มิถุนายน เป็นช่วงเวลาที่ปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ในทะเลอ่าวอันดามันวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อน ซึ่ง กระทรวงเกษตรฯ เห็นถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลอันดามัน จึงได้มีการศึกษาวงจรชีวิตสัตว์น้ำ ซึ่งจากผลการศึกษาปรากฏว่า บริเวณทะเลฝั่งอันดามัน พื้นที่ชายฝั่งทะเลเขตจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ตและจังหวัดตรัง โดยครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตรารางกิโลเมตร เป็นแหล่งวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อนที่สำคัญของสัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทูมีช่วงเวลาวางไข่หนาแน่นที่สุดในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงนำผลการศึกษามาวางมาตรการ “ปิดอ่าว” เพื่อห้ามใช้เครื่องมือบางประเภทที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรทำการประมงในช่วงฤดูปลามีไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ เป็นระเวลา 22 ปี และได้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรฯหลายฉบับ ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและสภาพแวดล้อม โดยประกาศฯ ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลให้มีการห้ามทำการประมงในพื้นที่เป็นปีแรกตั้งแต่จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา และจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 1เมษายน – 1 มิถุนายน ของทุกปี

สำหรับประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับปี 2551 กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมง ประกอบด้วย 1.ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2528 เรื่องกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลามีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกในท้องที่บางแห่งภายในระเวลาที่กำหนด พ.ศ.2528 2.ฤดปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี 3.ในฤดูที่กำหนดตามข้อ 2 นั้น ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้เครื่องมืออวนลากทุกประเภททุกขนาด ที่ใช้ประกอบกับเรือกล อวนประเภทล้อมจับ และอวนติดตามที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 4.7 ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนซึ่งเป็นทะเลของจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และตรัง

ตามพื้นที่เส้นล้อมรอบตั้งแต่ปลายแหลมพันวา ท้องที่อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต ซึ่งกำหนดเป็นจุดที่ 1 ถึงจุดที่ 8 ดังนี้ จากจุดที่ 1 ทางตะวันออกท้องที่จังหวัดภูเก็ต แล้วตัดตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงจุดที 2 ตะวันออกปลายแหลมหัวล้านของเกาะยาวใหญ่ ด้านทิศใต้ ท้องที่จังหวัดพังงาแล้วตัดตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ท้องที่จังหวัดพังงา ลากตัดตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จุดที่ 3 ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบิด๊ะนอก ท้องที่จังหวัดกระบี่ แล้วตัดตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงจุดที่ 4 ด้านทิศใต้ ปลายแหลมเกาะลันตาใหญ่ ท้องที่จังหวัดกระบี่ แล้วตัดตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงจุดที่ 5 ด้านทิศใต้ของเกาะตะลิบง ท้องที่จังหวัดตรัง แล้วตัดตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงจุดที่ 6 บริเวณหัวแหลมด้านใต้ทางทิศตะวันตกของเกาะสุกร ท้องที่จังหวัดตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมสุกรด้านทิศตะวันออก ถึงจุดที่ 7 แล้วลากตัดตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าหาฝั่ง จุดที่ 8 ปลายแหลมหยงสตาร์ ท้องที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

ทั้งนี้ เว้นแต่การทำประมงด้วยเครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก เฉพาะในเวลากลางวัน ตั้งแต่ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เครื่องมืออวนลากคานถ่างที่ใช้กับเรือกล (เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้ มีคานถ่าง หรืออวนลากแคระ) ที่ใช้ประกอบกับเรือกล ซึ่งใช้เส้นเชือกใยประดิษฐ์เป็นสายลากอวน เฉพาะในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น และเครื่องมืออวนโป๊ะ ข้อ 4 ประกาศฉบับนี้มิให้ใช้บังคับแก่การทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง ข้อ 5 ให้ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศตามความในมาตรา 60 แห่งประราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2551

สำหรับรายได้จากภาคการประมงในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท เฉพาะจังหวัดกระบี่เพียงจังหวัดเดียว ในแต่ละปีมีรายได้จากภาคการประมงไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น