xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพร้อมจับมือนานาชาติแก้ปัญหาโรฮิงยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - ไทยพร้อมจับมือกับนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงยา

บ่ายวันนี้ (8 มี.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปตรวจเยี่ยมและพูดคุยกับชาวโรฮิงยา จำนวน 82 คน ที่ถูกควบคุมตัว เพื่อรอการส่งกลับที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนองจากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการผลักดันแรงงานต่างด้าวชาวพม่าจำนวน 30 คน ที่เดินทางเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ผ่านทางเรือไปยังจังหวัดเกาะสองประเทศพม่า ของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนองที่บริเวณท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับแรงงานต่างด้าวผ่านล่าม ว่า ขอแสดงความเสียใจกับทุกคนด้วยที่ต้องมาอยู่ในสภาพเช่นนี้ ขอให้กลับประเทศไปก่อน ต่อไปรัฐบาลไทยจะร่วมมือกับรัฐบาลพม่ามากขึ้นในการจัดระบบแรงงานพม่าเพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาว่าได้แบ่งออกเป็น 4 กรอบ คือ 1.ไทยกับพม่า หรือหนึ่งต่อหนึ่ง 2.กรอบที่เรียกว่าคอนแทกกรุ๊ป คือ ประเทศในภูมิภาคที่เป็นทั้งต้นทางกลางทาง และปลายทาง ได้แก่ พม่า บังกลาเทศ อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

3.กรอบประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และกรอบที่ 4 คือ ขบวนการบาหลี หรือ บาหลีโพรเซส ซึ่งทั้ง 4 กรอบนี้ประเทศไทยอยู่ด้วยตลอด และได้ร่วมประชุมมาแล้ว ซึ่งจะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบาหลีโพรเซสในวันที่ 14-15 เมษายนนี้ด้วย ทั้ง 4 กรอบนี้วิธีการแก้ปัญหาจะต้องดูทั้งต้นทางกลางทาง ปลายทาง รวมทั้งการเข้ามาเกี่ยวข้องของประเทศที่ 3 ทั้งฝรั่งมั่งค่า ญี่ปุ่นในการที่จะรับคนบางส่วนของโรฮิงยาไปตั้งถิ่นฐานในประเทศของเขาในกรณีที่เข้าถูกกดขี่สิทธิเสรีภาพทางการเมืองแล้วก็ตัวจักรกลสำคัญขององค์การระหว่างประเทศมี 2 องค์กร คือ องค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCRและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอพยพ หรือ IOM ซึ่งตนได้พบกับผู้บริหารของทั้งสององค์กรแล้ว การดำเนินการต่างๆ ก็จะประสานงานกันอย่างใกล้ชิด

นายกษิต กล่าวต่อไปว่า ส่วนไทยกับพม่าก็จะร่วมดำเนินการสัมภาษณ์ และแยกแยะคนโรฮิงยา ว่า เป็นคนของบังกลาเทศ หรือเป็นคนของพม่า ซึ่งต้องมีทีมที่ต้องรู้ภาษาพม่าและภาษาเบงกาลี ซึ่งพม่าก็รับปากแล้วว่าจะร่วมกับเรา ส่วนการส่งกลับนั้นยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาดูแลได้ รวมทั้งไอโอเอ็มด้วยนี้ คือ เรื่องของโรฮิงยา จำนวน 84 คน ณ วันนี้ส่วนที่ชาวโรฮิงยาอยู่กระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดระนอง ทางกระทรวงแรงงานกับกระทรวงการต่างประเทศจะต้องร่วมกันขอมติ ครม.เพื่อให้จังหวัดระนองสามารถขึ้นบัญชีว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหนบ้าง หลังจากนั้น ก็จะเข้าขบวนการแยกแยะว่ามาจากพม่าเท่าใดมาจากบังกลาเทศเท่าใด จากนั้นก็จะเป็นขบวนการส่งกลับ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากยูเอ็นเอชซีอาร์ และไอโอเอ็ม ซึ่งสืบเนื่องจากการประชุมอาเซียนที่ชะอำ-หัวหิน เป็นที่ตกลงกัน ว่า เป็นปัญหาของภูมิภาคและต้องแก้ปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาค และประชาคมโลกก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ด้วยการให้เงินผ่านยูเอ็นเอชซีอาร์

ส่วนการกล่าวหากองทัพเรือไทยด้วยสื่อหนึ่งสื่อของฝรั่งตนขอร่วมปฏิเสธด้วยว่าไม่เป็นความจริงใดๆ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงยา ยืนยันว่า ถูกรังแกมาก่อนถึงประเทศไทย ซึ่งวันนี้เรายังให้การช่วยเหลือเยียวยาอยู่ที่โรงพยาบาล 2 คนการแก้ไขปัญหาต้องไม่ผลักภาระให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งต้องร่วมมือกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น