xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แฉมีแก๊งเป่าหู “โรฮิงยา” ใส่ร้ายไทย หวังเปลี่ยนสถานะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” เตรียมใช้เวทีอาเซียนดึง 3 ประเทศสมาชิก ที่เกี่ยวข้องร่วมถกแก้ปัญหา “โรฮิงยา” ระดับภูมิภาค ยันไม่มีหลักฐานเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมขอหลักฐานจากซีเอ็นเอ็น ยันหากพบเจ้าหน้าที่ทำผิด พร้อมดำเนินการ เพราะถือไม่ทำตามนโยบายรัฐ แฉมีขบวนการเป่าหูโรฮิงยา ให้ใส่ร้ายไทย หวังเปลี่ยนสถานะเป็นผู้อพยพ

วันนี้ (13 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ว่า ไม่ได้ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ของไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงยา แต่บอกเพียงว่า มีกรณีที่มีการปล่อยให้เรือของชาวโรฮิงยาลอยไปเพื่อขึ้นฝั่งที่อื่น และซีเอ็นเอ็น ถามตนว่า เป็นฝีมือของใคร ตนก็บอกว่า ยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นฝีมือของใคร เพียงแต่บอกว่า มีกรณีการผลักดัน หรือการดำเนินการใช้วิธีที่มีการลอยเรือไป แต่มีการให้อาหาร และน้ำ ซึ่งเท่าที่ดู ไม่ได้มีการกระทำอะไรที่มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ และที่มีการกล่าวหาในลักษณะของการละเมิดสิทธิ มัดมือ มัดเท้า หรือเฆี่ยนตี

อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น ต้องเรียนว่า รัฐบาลเสียใจ และกำลังหาแนวทางในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ และขณะนี้หลักการที่คิดว่าต่างประเทศเริ่มยอมรับแล้ว คือ การแก้ปัญหานี้ต้องแก้ในระดับภูมิภาค ไม่ใช่เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น ในการประชุมอาเซียนถือเป็นโอกาสดี อย่างน้อยที่สุดจะมีมาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และไทย ที่จะต้องคุยกันว่าจะทำงานกันอย่างไร หรือจะร่วมมือและหาบทบาทของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์อย่างไร

“ผมบอกว่า ไม่มีใครสามารถยืนยันในขณะนี้ และยังได้ขอว่าใครที่คิดว่ามีหลักฐานต่อการกระทำ ว่า เป็นการกระทำของใคร ขอให้ส่งมาทางรัฐบาล ซึ่งผมได้ขอกับทางซีเอ็นเอ็นด้วย ซึ่งซีเอ็นเอ็นกำลังกลับไปพิจารณาว่าจะส่งให้หรือไม่ เขายังไม่ได้เปิดเผย ผมบอกว่า ถ้ามีก็กรุณามาให้เรา เขาก็บอกว่า ขอไปพิจารณาก่อนว่าจะให้เราหรือไม่ ผมก็บอกว่าเมื่อรัฐบาลมีความจริงใจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ก็อยู่ที่เขาว่าจะตัดสินใจส่งภาพหรือหลักฐานที่เขามีมาให้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ในวันนี้หลังจากที่ผมเคยปรารภกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะให้เข้ามาดูอีกทาง ฉะนั้น ตอนนี้เรายืนยันกับสื่อต่างประเทศได้ทั้งหมด ทั้ง ซีเอ็นเอ็น และ บีบีซีด้วยว่า ที่เราตรวจสอบ การที่มีเรือไปลอยขึ้นฝั่งนั้น ยืนยันว่า อาจจะมีเหตุการณ์ของการผลักดันเช่นนั้น ซึ่งมีการตรวจสอบ และไม่มีการดำเนินการในลักษณะที่มีการละเมิดสิทธิ และการปล่อยเรือออกไปก็มีการให้อาหารและน้ำ ส่วนความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ เรายังไม่ทราบ เนื่องจากความสูญเสียที่มีการยืนยันก็คือ ถ้อยคำของการบอกเล่าของคนเหล่านี้ที่ไปขึ้นฝั่งตามที่ต่างๆ เท่านั้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนกรณีที่ประเทศบังdลาเทศ ที่มีปัญหาเช่นเดียวกันไม่ได้อยู่ในอาเซียนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับยูเอ็นเอชซีอาร์อยู่แล้ว และตนยืนยันจุดยืนเดิมว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่สถานะของผู้อพยพลี้ภัย แต่คนเหล่านี้เป็นคนที่มาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ หากประเทศใดก็ตาม รวมทั้งประเทศตะวันตก ประสงค์จะหางานและที่พักพิงให้คนเหล่านี้ ทางรัฐบาลไทยยินดีที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งไป ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลไทยได้แสดงออกกรณีโรฮิงยา ถือเป็นความชัดเจนถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่ยึดมั่นในหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน แต่ขณะเดียวกัน จะต้องยืนยันสิทธิของไทยในการรักษาความมั่นคง ซึ่งทุกประเทศนั้น ใครเข้าเมืองผิดกฎหมายก็มีสิทธิที่จะผลักดันออกไป และไทยก็ทำเช่นเดียวกับประเทศอื่น

เมื่อถามว่า การที่ซีเอ็นเอ็น ยังไม่ได้ตอบรับว่า จะให้หลักฐานภาพถ่ายชาวโรฮิงยาที่ถูกลอยคอนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ซีเอ็นเอ็น อ้างว่า ต้องปกป้องแหล่งข่าว ตนจึงได้บอกไปว่าขอให้ลองดูว่ามีวิธีการใดที่จะส่งหลักฐานมาให้โดยไม่ทำให้วิตกกังวล เพราะไทยก็ไม่อยากไปยุ่งกับแหล่งข่าวของซีเอ็นเอ็นอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า ข้อมูลของรัฐบาลมาจากแหล่งข่าวใดที่ว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาจากหลายแหล่ง และที่ได้ข้อมูลมาก็ไม่มีใครมีเจตนาที่จะให้คนเหล่านี้ไปเสียชีวิต และลักษณะการปล่อยก็มีน้ำมีอาหารให้ และมีการคาดคะเนพอสมควรที่จะไปขึ้นฝั่งที่ไหน ในระยะเวลาเท่าใด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หลายส่วนทำกัน แต่การผลักดันดังกล่าวยังไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร หากมีการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรายงาน ก็ต้องมีการดำเนินการ เพราะถือว่าไม่ตรงกับนโยบายและแนวปฏิบัติของรัฐบาลที่กำหนดไว้ ซึ่งมีกรอบวินัยของทางราชการอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ได้ย้ำกับซีเอ็นเอ็นไป ก็คือ ขณะนี้เราควรพยายามคิดแก้ไขปัญหากับคนที่มีอีกเป็นหลักแสนคน หรือเป็นล้านคน มากกว่าการที่พยายามดูว่าเป็นความผิดใคร หรือโยนภาระให้ใคร และตรงนี้เป็นจุดยืนที่สะท้อนถึงความตั้งใจของไทยที่จะแก้ปัญหาของคนเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาของไทย แต่การพยายามกำหนดให้เป็นภาระหรือความผิดของประเทศใด หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ถือว่าไม่ค่อยเป็นธรรม และขณะเดียวกันตนมีข้อมูลเช่นกันว่า คนที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ก็มีความพยายามที่จะไปกระตุ้นหรือจูงใจให้คนเหล่านี้กล่าวหาทางการไทย ซึ่งทางซีเอ็นเอ็นที่มาคุยกับตนก็ยอมรับว่ามีลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรายืนยันว่าข้อมูลทั้งหลายที่เป็นเรื่องคำบอกเล่าจะต้องฟังหูไว้หู แต่หากมีหลักฐานอะไร ขอให้ส่งมา และถ้าไม่เชื่อรัฐบาลหรือกองทัพ ก็ยังมีองค์กรเอกชน หรือองค์กรสิทธิมนุษยชนอีกหลายองค์กร ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ให้คนของรัฐบาลประสานงาน และขณะนี้ความเข้าใจก็ตรงกันมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า คนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ดังกล่าวใส่ร้ายไทยด้วยเหตุผลอะไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีทั้งประเด็นที่หวังให้เปลี่ยนสถานะของคนเหล่านี้ และเป็นการกดดันเพื่อให้ไทยรับคนเหล่านี้หรือเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลที่ได้พบว่าคนเหล่านี้อยู่ในขบวนการที่นำชาวโรฮิงยาเข้ามาและส่งคนเหล่านี้ไปทำงานในที่ต่างๆ ซึ่งมาจากหลายส่วนในภูมิภาคนี้

ส่วนการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่กรณีที่มีชาวโรฮิงยาในไทยเปิดโปงว่าต้องจ่ายค่าหัวคิวสวมสิทธิบัตรไทยผลัดถิ่นนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำลังสรุปแนวทางปฏิบัติในการเข้มงวดกวดขันขบวนการนี้ในส่วนของประเทศไทย เพื่อให้ไทยคลี่คลายปัญหานี้ได้ เพราะคาดการว่าขณะนี้มีชาวโรฮิงยาในไทยประมาณ 20,000 คน

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า กรอบอาเซียนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่โจทย์ง่าย และเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน คือ มีองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นองค์กรที่ปฏิบัติงานได้จริงเพื่อหาความสมดุลตรงนี้ โดยบทบาท มาตรฐานที่จะใช้ต้องเป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันทุกประเทศต้องพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ซึ่งตรงนี้เป็นกรอบที่ไทยในฐานะประธานกำลังดำเนินการอยู่และตั้งเป้าหมายว่าจะให้เสร็จก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนตุลาคมปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น