xs
xsm
sm
md
lg

ศรีบรรพตส่งเสริมชาวสวนยางปลูก “ผักเหมียง” เสริมรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง – อำเภอศรีบรรพตส่งเสริมชาวสวนยางปลูกผักเหมียง ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงด้วยเมนูที่หลากหลาย จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผักพื้นบ้านภาคใต้” สร้างรายได้เสริม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยลดสภาวะโลกร้อน หวังให้ผักเหมียงเป็นพืชสัญลักษณ์ของอำเภอ

ผักเหมียง เป็นผักพื้นเมืองภาคใต้ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มรำไร มีฝนตกชุก เป็นพืชยืนต้นลำต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปี เกษตรกรชาวศรีบรรพต จังหวัดพัทลุงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยาง และสวนผลไม้ ในสภาวะราคายางพาราตกต่ำ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชร่วมในสวนยางเป็นรายได้เสริม นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เกิดจากความคิดของนายสมหวัง เรืองเพ็ง นายอำเภอศรีบรรพต ที่มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาอาชีพของเกษตรกรให้มีความยั่งยืน โดยให้ทุกภาคส่วนในระดับอำเภอ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการในลักษณะบูรณาการโดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอเป็นหน่วยประสานงาน

ผักเหมียง เป็นผักพื้นเมืองภาคใต้ ที่ใช้ใบอ่อนนำมาประกอบอาหารรับประทานได้หลายอย่าง เช่น แกงเลียง ต้มกะทิ ผัดน้ำมันหอย ลวกเป็นผักจิ้ม มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผักพื้นบ้านภาคใต้”

การส่งเสริมการปลูกผักเหมียงของอำเภอศรีบรรพต จะส่งเสริมให้เกษตรกรทั้ง 3 ตำบล คือ ตำบลเขาปู่ เขาย่า และตะแพน ปลูกเป็นพืชร่วมในสวนยางพาราและในสวนไม้ผล ให้ได้ 300 ไร่ ภายใน 3 ปี โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2553 มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเสริมรายได้ให้เกษตรกร ด้วยการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยลดสภาวะโลกร้อนและหวังให้ผักเหมียงเป็นพืชสัญลักษณ์ของอำเภอ ใครมาเยี่ยมอำเภอศรีบรรพตต้องได้กิน ผักเหมียง หรือซื้อผักเหมียงเป็นของฝาก “นึกถึงศรีบรรพต ต้องนึกถึงผักเหมียง”

นายยงยุทธ กุลทอง เกษตรอำเภอศรีบรรพต กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมปลูกผักเหมียงสำนักงานเกษตรอำเภอศรีบรรพต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปฏิบัติงาน ในปี 2551 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 150 ราย ดำเนินการไปแล้ว 60 ไร่ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้บ้างแล้ว ใช้บริโภคในครัวเรือน และขายส่งพ่อค้าในราคากิโลกรัมละ 40 บาท

สำหรับในปี 2552 กำลังดำเนินการส่งเสริมปลูกเพิ่มอีก 120 ไร่ และปี 2553 จะปลูกอีก 120 ไร่ ก็จะมีพื้นที่ครบ 300 ไร่ นอกจากนั้นในปี 2551 ที่ผ่านมาอำเภอศรีบรรพตยังส่งเสริมให้ราษฎรปลูกผักเหมียงเป็น ผักสวนครัวรั้วกินได้ ตามโครงการปลูกผักปลอดสารพิษตามแนวทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน จำนวน 80 ครัวเรือนอีกด้วย

นายสมหวัง เรืองเพ็ง นายอำเภอศรีบรรพต กล่าวว่า การทำโครงการส่งเสริมปลูกผักเหมียง ถ้ามองผิวเผินเหมือนกับโครงการอื่นๆ ที่ซื้อของแจกชาวบ้าน แต่โครงการปลูกผักเหมียงมีการติดตามตรวจสอบ มีกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่อง ต่อยอด มีการรวมกลุ่มของเกษตรกร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตลอด ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะเป็นคนเข้าไปเติมเต็มในเวทีการเรียนรู้ของเกษตรกรที่มีการเรียนรู้การปลูกผักเหมียงทุกขั้นตอน ตามฤดูกาล ตามความต้องการของเกษตรกร ทำให้โครงการปลูกผักเหมียงเป็นการสร้างรายได้เสริมที่มั่นคง และยั่งยืนของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

สนใจปลูกผักเหมียงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอศรีบรรพต หรือสำนักงานเกษตรอำเภอศรีบรรพต โทร.0-7468-9015




กำลังโหลดความคิดเห็น