xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใช้ 4 ป. ปราบยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2547-2551 เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2547 พบผู้ป่วย 39,135 ราย ในปี 2551 เพิ่มเป็น 91,003 ราย คิดเป็นร้อยละ 132 สาเหตุเกิดจากฝนตกระยะยาว ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2551 มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 1,553 ราย ใน ปี 2552 เพิ่มเป็น 1,675 ราย
โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพคนทุกกลุ่มอายุ หากได้รับการวินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือได้รับการดูแลไม่ถูกต้อง ความรุนแรงของโรคทำให้เสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกติดต่อกันโดยยุงลายเป็นพาหะ ดังนั้น การพิชิตยุงลายจะป้องกันโรคไข้เลือดออก จึงต้องช่วยกันป้องกันอย่าให้ลูกยุงลายเกิด อย่าให้ยุงลายกัด และเมื่อป่วยแล้วต้องรีบรักษาอย่าให้เสียชีวิต โดยใช้มาตรการ 4 ป. ปราบยุงลาย ซึ่งทำได้ด้วยตัวเอง ได้แก่ 1.ปิดฝาโอ่งให้สนิท 2.เปลี่ยนน้ำในถังและแจกันทุก 7 วัน 3.ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงบัว และ4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด

กินผักพื้นบ้านต้านมะเร็ง
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งได้คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากเป็นอันดับ 1 และมีแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตเพื่มขึ้นทุกปี โดยพบว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารของประชาชนเป็น 1 ในสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็ง งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์กำแพงแสน ยืนยันว่า ผักพื้นบ้านของไทยกว่า 90 ชนิดที่นำมา ทดลอง มีสารที่ช่วยยับยั้งหรือชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็งได้ อาทิ มะระขึ้นก ใบมะม่วง เพกา แขนงกะหล่ำ ใบโหระพา ผักแว่น พริกไทย ใบยอ ใบบัวบก ฯลฯ จึงขอเชิญชวนให้หันมารับประทานผักพื้นบ้านเป็นอาหารหลักให้มากขึ้น
ด้านนายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุผักพื้นบ้านไทย ส่วนใหญ่อุดมไปด้วยใยอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับไขมันไม่ให้อุดตันในเส้นเลือดและลำไส้ พร้อมอุดมด้วยสาร ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการยังยั้งการเกิดมะเร็ง และทำให้ผู้รับประทานดูอ่อนเยาว์ได้ด้วย

คนไทยเสี่ยงเบาหวานมากขึ้นเหตุเพราะอ้วนเกินมาตรฐาน
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยกำลังเผชิญกับภาวะความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่คุกคามต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งจาก ภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน และความดันโลหิตสูง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จากการสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป พบเป็นโรคเบาหวานกว่า 3 ล้านคน ในจำนวนนี้รู้ตัวว่าป่วยเพียง 1.4 ล้านคน และมีผู้ที่มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเบาหวานประมาณ 1.8 ล้านคน โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพ ที่สำคัญระดับโลก เพราะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ลดต่ำลงจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ความผิดปกติของปลาย
ประสาท จอประสาทตาเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไตวาย รวมถึงแผลบริเวณเท้าที่ยากต่อการรักษา และความพิการทางสายตา

ออกกำลังกาย 3 นาที/สัปดาห์ กระตุ้นอินซูลินขจัดเบาหวาน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารไบโอเมด เซนทรัล เอนโดคริน ดิสออร์เดอร์ ระบุว่าคนที่ไม่สามารถออกกำลังกายสัปดาห์ละหลายชั่วโมงตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ยังมีโอกาสได้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย เช่นเดียวกัน
“นี่เป็นการออกกำลังกายอย่างรวบรัดโดยที่คุณไม่ต้องเสียเหงื่อมากนัก แต่ได้ประโยชน์มากพอๆ กับการออกกำลังกายหลายๆ ชั่วโมงต่อสัปดาห์” เจมส์ ทิมมอนส์ นักชีววิทยาที่เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายจากมหาวิทยาลัยเฮอเรียตวัตต์ในเอดินเบิร์ก สก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย กล่าว
โรคเบาหวานประเภท 2 ที่คุกคามคนวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกประมาณ 246 ล้านคน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 6% ของ ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลก เป็นอาการที่เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียความสามารถในการใช้อินซูลินอย่างเหมาะสมเพื่อเปลี่ยนอาหารเป็นพลังงาน
การควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัดอาจช่วยบำบัดโรคนี้ได้ แต่ก็อาจยากเกินไปสำหรับบางคน และโรคนี้เกี่ยวข้องอย่างมากกับรูปแบบการ ใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมมากนัก
อย่างไรก็ตาม ทิมมอนส์และทีมนักวิจัย แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายเพียงแค่ สัปดาห์ละ 3 นาที ช่วยให้ชายหนุ่มในวัย ยี่สิบต้นๆ จำนวน 16 คนสามารถควบคุมอินซูลินได้ อาสาสมัครที่รูปร่างไม่ฟิตเปรี๊ยะ แต่สุขภาพแข็งแรงดี ขี่จักรยานออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 4 ครั้งและครั้งละ 30 วินาที หลังจากสองสัปดาห์ ชายหนุ่ม เหล่านี้สามารถใช้อินซูลินในการขจัดกลูโคส หรือน้ำตาลในเลือดอย่างมีประสิทธิภาพมาก ขึ้น 23% โดยผลลัพธ์นี้จะคงอยู่ได้นานสิบวันหลังการออกกำลังกายรอบสุดท้าย
“ไอเดียง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณทำให้กล้ามเนื้อหดตัวระหว่างการปั่นจักรยาน จะทำให้อินซูลินมีประสิทธิภาพการทำงานในการขจัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดีขึ้น” ทิมมอนส์อธิบาย
การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่มีเวลาออกกำลังกายมากนัก สามารถปรับ ปรุงสุขภาพของตัวเองได้เช่นเดียวกัน
นักวิจัยทีมนี้ไม่ได้ค้นหาประโยชน์ต่อสุขภาพที่สำคัญอื่นๆ จากการออกกำลังกาย เช่น การทำให้ความดันโลหิตลดลง หรือการควบคุมน้ำหนัก แต่ระบุว่าการศึกษาอีกฉบับบ่งชี้ถึงผลลัพธ์คล้ายกันแต่เป็นในส่วนของการทำงานของหัวใจ

เครียดสะสมบ่มรอยเหี่ยวย่น บนใบหน้า
นักวิจัยจากสมาคมแพทย์ศัลยกรรมแห่งสหรัฐฯ (เอเอสพีเอส) ทำการทดสอบกับแฝดเหมือน 186 คู่ เนื่อง จากแฝดเหมือนถูกตั้งโปรแกรมทางพันธุกรรมไว้ให้เจริญเติบโตและเข้าสู่ภาวะสูงวัยพร้อมกัน
การศึกษาพบว่าฝาแฝดที่หย่าร้างหน้าตาดูแก่กว่าคู่แฝดของตนที่ยังมีสถานะแต่งงาน เป็นม่ายหรือโสดเกือบ สองปี นักวิจัยยังพบว่ายาคลายเครียดและการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
ในกลุ่มฝาแฝดที่อายุไม่ถึง 40 ปี ปรากฏว่าแฝดคนที่หนักกว่าดูเหมือนแก่กว่า ทว่าในทางกลับกัน ในกลุ่มฝาแฝดที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แฝดคนที่อ้วนกว่ากลับดูอ่อนเยาว์กว่า
การที่กล้ามเนื้อบนใบหน้ายังคงหย่อนคล้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้ยาคลายเครียด อาจอธิบายได้ว่าน้ำหนักตัวที่ลดลงผิดปกติส่งผลลบต่อสุขภาพและรูปลักษณ์ของคนเรา

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น