จักษุแพทย์เตือนโรคตาเสื่อมในผู้สูงอายุไม่ธรรมดา หากไม่ระวังอาจตาบอดได้ แนะสังเกตอาการ หากมองเห็นจุดตรงกลางภาพเป็นสีดำ ภาพเบลอ บิดเบี้ยว อย่านิ่งนอนใจควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ ชี้ผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงเพิ่มขึ้น 3 เท่า และมีโอกาสเกิดเร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี แนะผู้ทีมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจสุขภาพตาทุก 1-2 ปี และรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลูทีน และซีแซนทีน ช่วยป้องกันได้ แต่ควรเลือกใช้อย่างระมัดระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวออกมามากมาย ทางที่ดีควรปรึกษาจักษุแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน
เมื่อตัวเลขอายุเพิ่มขึ้น หลายๆ คนคงรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก รวมถึงความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ซึ่งถือเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่สิ่งที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ นั่นคือความเสื่อมถอยที่จะนำไปสู่การสูญเสียอย่างถาวร เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคร้ายที่อาจนำไปสู่อาการตาบอดได้
รศ.นพ.วิชัย ประสาทฤทธา หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า โรคจอประสาทตาเสื่อม หรือ โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ (Age-related Macular Degeneration) เป็นโรคร้ายทางตาของผู้สูงอายุ พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุ สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ดังนั้น การทำความรู้จักโรคและหาวิธีการป้องกันไว้ตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้
รศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุก็คือ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการของโรคดังกล่าวเกิดขึ้น จนกว่าจะสังเกตได้ว่าการมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม เช่น ตาพร่ามัว ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นตรงกลางของภาพไม่ชัดเจน ดังนั้นหากรู้สึกว่าเกิดอาการผิดปกติเหล่านี้ขึ้นกับดวงตา ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน ควรต้องใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ทางที่ดีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องสายตาเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่ไม่แสดงอาการ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถเยียวยาให้ดวงตาสามารถใช้งานได้ต่อไป
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ขบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย พันธุกรรม การติดเชื้อ สายตาสั้นมากๆ การสูบบุหรี่ ซึ่งมีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานฮอร์โมนทดแทน ก็พบว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้เช่นกัน
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ แบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบแห้ง (Dry AMD) และ แบบเปียก (Wet AMD) ซึ่งรูปแบบที่พบได้มากที่สุด คือ แบบแห้ง เกิดจากการเสื่อมสลายและบางลงของบริเวณศูนย์กลางรับภาพของจอประสาทตา (Macula) จะทำให้การมองเห็นค่อยๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้าๆ ส่วนแบบเปียกนั้น แม้จะพบได้ประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตาบอดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมา หากเส้นเลือดที่เปราะบางเกิดการรั่วซึม จะทำให้จุดรับภาพบวม ภาพเริ่มพร่ามัว และตาบอดในที่สุด
สำหรับการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุนั้นมีหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ การฉีดยาเพื่อยับยั้งเส้นเลือดใหม่ที่งอกขึ้นมา หรือแม้กระทั่งการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.วิชัย แนะนำว่า การดูแลสุขภาพดวงตา และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของโรคตั้งแต่ยังหนุ่มสาว นับว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด โดยควรปฏิบัติตนดังนี้ 1) งดการสูบบุหรี่ 2) หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด โดยเฉพาะในวัยอายุน้อยๆ 3) ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง และรับประทานผักใบเขียวและผลไม้ทุกวันและ 4) มีผลการวิจัยในต่างประเทศ พบว่า การรับประทานสารอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ลูทีน และซีแซนทีน จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมอย่างได้ผล นอกจากนั้น การรับประทานสารอาหารเพื่อต้านกระบวนการอนุมูลอิสระก็จะสามารถช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนไข้แบบแห้ง (Dry AMD)
“สิ่งหนึ่งที่อยากย้ำเตือนก็คือ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อดวงตา ที่มีลูทีนและซีแซนทีนเกิดขึ้นมากมาย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อด้วยความระมัดระวัง อย่าซื้อเพียงเพราะโฆษณาอย่างเดียว ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์จึงจะดีที่สุด หรือหากต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เอง ก็ควรเลือกจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ อ่านฉลากกำกับให้ละเอียด และเลือกที่มีสารอาหารที่ให้ประโยชน์เกี่ยวกับดวงตาโดยตรง เช่น วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี เบตาแคโรทีน โอเมกา 3 ลูทีน ซีแซนทีน เป็นต้น และควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลการวิจัยและเอกสารทางการแพทย์รับรองประสิทธิภาพ ฉะนั้น ในฐานะผู้บริโภคจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจทุกครั้ง