สตูล - แกนนำกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรเมืองสตูล เปิดเวทีลอยค้านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา พร้อมเห็นว่า เป็นเศรษฐกิจเพ้อฝัน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยชุมชนมีสิทธิกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง
วันนี้ (20 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.สตูล นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พร้อมคณะนายชะลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ลงตรวจราชการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลา จ.สงขลา ในระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมี นายชูศักดิ์ มณีชยางกูร รองผู้ว่าราชการ จ.สตูล นายธานินทร์ ใจสมุทร นายก อบจ.ให้การต้อนรับ
ซึ่งการลงติดตามโครงการในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้านการพัฒนาเส้นทาง (New trade Lanes) ของประเทศไทย เพื่อรองรับการแข่งขั้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทางการค้าของประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศต่างๆ ในโลก สู่ตะวันออกกลางและยุโรป ผ่านทางฝั่งทะเลอันดามัน การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่มีศักยภาพด้านฝั่งตะวันตก หรือฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมโยงศูนย์กลาง ขนส่ง ขนถ่ายสินค้าทางทะเลไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และทวีปยุโรป รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางบก เพื่อเชื่อมจากฝั่งทะเลอันดามัน ไปยังท่าเรือน้ำลึกสงขลา สู่ฝั่งทะเลอ่าวไทย ไปสู่ภูมิภาคอื่น ของโลก
โดยการพัฒนาเส้นทางตามยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของประเทศข้างต้น โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เพื่อให้สามารถรองรับเรือสินค้าหรือการขนถ่ายสินค้าจากเรือ ขนาด 50,000-70,000 เดตเวตตัน รวมทั้งการพัฒนาระบบการคมนาคมครบวงจรให้สามารถเชื่อต่อกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา จังหวัดสงขลา ให้มีความสมบูรณ์ จะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศได้อย่างมีศักยภาพสูงสุด และยังเป็นการกระจายความเจริญจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค ส่งเสริมการยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชนในจังหวัดสตูล และสงขลา และจังหวัดข้างเคียงในฝั่งทะเลอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยได้อย่างสูง
นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้เห็นสภาพ สภาวการณ์ต่างๆ อย่างแท้จริง และยังได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นรับฟังข้อเสนอแนะ อย่างรอบด้านได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะเป็นข้อมูลในการดำเนินการตามโครงการข้างต้นให้เดินหน้าไปได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ซึ่งในนามของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม มีความมุ่งหวังและมั่นใจในความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชน ชุมชน สังคม ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก ดังกล่าว แต่หากโครงการเดินหน้าไปได้ด้วยดี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และอีกประการหนึ่ง คือ ประเทศชาติ สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น สามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ไปสู่เวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ
ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างนั้น เชื่อว่า น่าจะทันในปีงบประมาณหน้ากว่าหมื่นล้านบาท และมั่นใจว่า โครงการนี้จะไม่ถูกพับเก็บไป เพราะพิษเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเศรษฐกิจโลกเนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ชาวสตูลอยู่แล้ว
ส่วนการร้องเรียนในการก่อสร้างนั้นก็ต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ว่าต้องการให้เกิดขึ้นหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่คณะ รมช.คมนาคม อยู่ระหว่างการรับฟังความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ที่ห้องประชุม เทศบาลตำบลกำแพง อยู่นั้น นอกห้องประชุมมีการติดเครื่องขยายเสียง ติดป้ายผ้าคัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก โดย นางสาวนี สำลี อายุ 49 ปี บ้านเลขที่ 353 หมู่ 2 ต.ปากน้ำ อ.ละงู หนึ่งในแกนนำคัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา นำเอกสารเปิดผนึก ในนามเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรเมืองสตูล แจกจ่าย ให้ผู้เข้าร่วมรับฟังความคืบหน้าโครงการในครั้งนี้ โดยสาระสำคัญของหนังสือเปิดผนึก ได้แสดงความเสียใจที่รัฐบาลไม่เคยรับรู้ เข้าใจ และเห็นคุณค่าจากสิ่งแวดล้อม และพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของคนที่นี่ โดยการยัดเยียดโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก มาให้ เพียงอ้างถึงเศรษฐกิจเพ้อฝัน ที่บอกว่า จะทำให้คนสตูลมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมิได้คำนึกถึงความสุข ความสงบ และธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดทำสรุปรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ กรณีโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราแห่งนี้ เมื่อปลายปี พ.ศ.2551 พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหา คือ ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากคลอง ปากบารา ตำบลปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ทั้งนี้ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้
และในนามเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรเมืองสตูล จึงขอเสนอให้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยคำนึกถึงเกิดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสังคม วิถี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของเมืองสตูลเป็นสำคัญ และโปรดปฏิบัติตามข้อเสนอที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินำเสนอตามความดังกล่าวเบื้องต้น และยื่นหนังสือฉบับนี้ผ่านไปยัง รมช.คมนาคม ให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย