xs
xsm
sm
md
lg

ตรังอบรม จนท.ตร.ปัญหาการค้าผู้หญิงและเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง – จังหวัดตรังจัดอบรมเผยแพร่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2551 ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสังกัดกองบังคับการตำรวจภูธร ภาค 9 จำนวนกว่า 200 นาย

วันนี้ (30 ม.ค.) นางญาณี เลิศไกร ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าผู้หญิงและเด็ก เดินทางมาเป็นประธานในการอบรมเผยแพร่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2551 ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด กองบังคับการตำรวจภูธร ภาค 9 จำนวนกว่า 200 นาย เนื่องจากมีอาณาเขตติดชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งปัญหาการค้าผู้หญิงและเด็ก หรือการค้ามนุษย์ถือเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้ รวมทั้งรูปแบบการค้ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย

ดังนั้น การอบรมในครั้งนี้ถือเป็นการชี้แจงสารสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2551 แก่หน่วยงานเครือข่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องคุมเข้มในการป้องกันปราบปราม และจับกุมผู้ค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญ กับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด และได้มีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องมีการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป ทั้งการค้ามนุษย์ภายในประเทศและข้ามชาติ

สำหรับการจัดอบรมในวันนี้ ทางสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก ได้เชิญ พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มาบรรยายพิเศษเรื่องสารสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2551 และแนวทางการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วย

พล.ต.ท.ชัชวาลย์ กล่าวถึงเรื่องสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยโรฮิงยา สัญชาติพม่า ที่มีการหลบหนีผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ว่า ขณะนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงฤดูการอพยพของชนกลุ่มนี้ ซึ่งจะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม ที่ทะเลมีความสงบง่ายต่อการเดินทาง ไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยใช้เส้นทางประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน

พล.ต.ท.ชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการป้องกันและปราบปรามแรงงานต่างด้าว ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในทั่วประเทศ มีการคุมเข้มการอพยพของแรงงานต่างด้าว และกลุ่มคนโรฮิงยา ที่จะสร้างความเดือดร้อนหากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากต้องเป็นภาระในเลี้ยงดู และเสียค่าใช้จ่ายในการส่งกลับประเทศ ดังนั้น จึงได้ให้มีการตั้งจุดสกัด และผลักดันออกประเทศอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของพื้นที่จังหวัดตรัง ไม่ได้เป็นเส้นทางของกลุ่มผู้อพยพที่ใช้เดินทางดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีการใช้เส้นทางในน่านน้ำของจังหวัดระนอง และพังงา แต่ได้ประสานงานอย่างเข้มงวดในการปราบปราม ทั้งพื้นที่ทางบกและทางทะเลด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น