“ผอ.สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก” เผยความคืบหน้า MOU ป้องกันค้ามนุษย์ไทย-เวียดนาม คลอดร่างแผนปฏิบัติการ ผ่าน 5 แผนงาน ทั้งการดำเนินงานร่วม ศึกษาสถานการณ์ปัญหา ประสานความร่วมมือในการคุ้มครองเหยื่อ การป้องกันโดยดึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และการประสานความร่วมมือจัดการผู้กระทำผิด แย้มเตรียมเซ็นเพิ่มกับประเทศที่เป็นปลายทางการค้ามนุษย์จากไทย เล็ง ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น-แอฟริกา
นางญาณี เลิศไกร ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามได้มีการทำ MOU ในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับทวิภาคีเพื่อขจัดการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก และการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ ที่ผ่านมานั้นทั้ง 2 รัฐบาลก็ได้ดำเนินงานร่วมกัน ทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมฝ่ายไทยว่าด้วยเรื่องความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา นั้น ประเทศเวียดนามโดยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ได้เชิญผู้แทนจากไทย ที่ประกอบไปด้วย หน่วยงานทั้งจากภาครัฐ และกลุ่มองค์กรเอกชน เอ็นจีโอ ที่ประสานความร่วมมือในเรื่องของการต่อต้านการค้ามนุษย์ เข้าร่วมประชุมเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ไทย-เวียดนาม ซึ่งสาระสำคัญในการประชุมนั้นเป็นการหารือของผู้แทนทั้ง 2 ประเทศเพื่อพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการตาม MOU ซึ่งเป็นแผนระยะเวลา 3 ปี โดยรายละเอียดการดำเนินงานนั้นตกลงร่วมกันเป็นร่างแผนปฏิบัติการฉบับที่ 2 กำหนดผ่าน 5 แผนงาน อาทิ การกำหนดหน่วยงานเพื่อประสานงานทั้ง 2 ประเทศ พร้อมทั้งกำหนดให้จัดประชุมติดตามผลในทุก 2 ปี การศึกษาสถานการณ์การค้ามนุษย์ สถานการณ์ปัญหา ด้วยการศึกษาดูงานเพื่อทราบสถานการณ์ให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางป้องกัน แก้ไข ทั้งในการจัดบริการและนโยบาย ทั้งยังประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานในการคุ้มครองเหยื่อ
นางญาณี กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือในด้านการป้องกันนั้น โดยการจัดประชุมพหุภาคีเพื่อร่างแผนป้องกัน ดึงการมีส่วนร่วมจากประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมทั้งความร่วมมือในด้านการสืบสวน สอบสวน จับกุมผู้กระทำผิด แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยกำหนดให้มีกลไกประสานงานกลาง ซึ่งทางเวียดนามได้มอบหมายให้กรมอาญา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะเป็นหน่วยประสาน และฝ่ายไทยมอบหมายให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (ปดส.) โดยร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยประสาน สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปนั้น คือการกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการในแผนงาน ซึ่งจะมีการสรุปแผนปฏิบัติการร่วมกันต่อไป
“ปัญหาการค้ามนุษย์โดยที่ไทยเป็นประเทศปลายทาง ซึ่งต้นทางมาจากประเทศเวียดนามนั้นตอนนี้ยังถือว่าเกิดขึ้นน้อย หากเทียบกับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งล่าสุด ก็ได้มีการทำ MOU เพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกับพม่าแล้ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการทำ MOU เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์นั้นจะเห็นว่าไทยถือเป็นประเทศปลายทางของปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งสิ้น ทำให้ ณ ตอนนี้ กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งจัดทำร่างความร่วมมือ กับประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศปลายทางการค้ามนุษย์ ซึ่งไทยเป็นต้นทาง โดยพุ่งเป้าไปที่ ประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแอฟริกา และในอนาคตอันใกล้นี้จะได้มีการทำ MOU ป้องกันการค้ามนุษย์ร่วมกันต่อไป เพราะประเทศที่กล่าวมานั้นถือได้ว่ามีหญิงไทยและแรงงานไทยไปทำงานอยู่มาก จึงต้องระวังป้องกัน และช่วยเหลือคนไทยที่อาจจะถูกล่อลวงไปยังประเทศปลายทางเหล่านั้นด้วย” นางญาณี กล่าว